xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงาน UN ประณามโกดังเก็บเสบียงอาหารถูกปล้น-เผาทำลายในพื้นที่ต่อสู้รัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติได้ประณามการปล้นเสบียงอาหารและเผาโกดังหลังหนึ่งของหน่วยงานในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่เสียหายจากการต่อสู้ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า

คำแถลงที่ออกโดยโครงการอาหารโลก (WFP) ระบุว่า อาคารที่ถูกทำลายในเมืองหม่องดอ ของรัฐยะไข่ มีอาหารและเสบียงอยู่ราว 1,175 ตัน ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับผู้คนราว 64,000 คน เป็นเวลา 1 เดือนในกรณีฉุกเฉิน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองทัพอาระกันเลวร้ายยิ่งขึ้น

การต่อสู้ดุเดือดกำลังเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งสหประชาชาติกล่าวว่าผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในปี 2564 ที่ก่อให้เกิดความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาลและส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบสนอง

โครงการอาหารโลกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพย์สินด้านมนุษยธรรมได้รับการเคารพและปกป้อง และจัดให้มีการเข้าถึงอย่างปลอดภัยเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือที่สำคัญให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ คำแถลงไม่ได้ระบุผู้กระทำผิดในการปล้นทรัพย์สินดังกล่าว กองทัพอาระกันกล่าวโทษการโจมตีดังกล่าวว่าเป็นฝีมือของทหารและชาวมุสลิมในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เน ซาน ละวิน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Free Rohingya Coalition ที่อยู่นอกพม่ากล่าวว่า สมาชิกของทั้งกองทัพอาระกันและกองทัพพม่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล้นและเผาโกดังของโครงการอาหารโลกที่มีกระสอบข้าวสารมากกว่า 20,000 กระสอบ

เมืองหม่องดอ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่และอยู่ใกล้กับชายแดนติดบังกลาเทศ จวนที่จะถูกกองทัพอาระกันเข้ายึด

หลายวันก่อนหน้านี้ กองทัพอาระกันได้เรียกร้องให้ชาวเมืองหม่องดอ ที่ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา อพยพออกจากบ้านเรือนของตนโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

ในเดือน พ.ค. กองทัพอาระกันเข้ายึดเมืองในรัฐยะไข่ได้อีกเมืองหนึ่ง ที่ประชากรในเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาเหมือนกับเมืองหม่องดอ ในเวลานั้น รัฐบาลทหารและกองทัพอาระกันต่างโทษอีกฝ่ายว่าเป็นคนเผาเมืองและบังคับให้ชาวเมืองอพยพออกจากเมือง

ชาวโรฮิงญาตกเป็นเป้าของการรณรงค์ต่อต้านการก่อความไม่สงบอันโหดร้ายที่รวมถึงการข่มขืนและการฆาตกรรม ทำให้ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีไปยังบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง ในขณะที่หมู่บ้านของพวกเขาถูกทหารเผาทำลายในปี 2560

ชาวยะไข่ที่สนับสนุนกองทัพอาระกันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ข่มเหงชาวโรฮิงญา ขณะนี้กองทัพอาระกันอ้างว่าพวกเขาไม่มีอคติต่อชาวโรฮิงญา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่คนเหล่านี้ ด้านกองทัพพม่าก็อ้างเช่นเดียวกันว่าได้แจกจ่ายข้าวให้ชาวเมืองหม่องดอ

ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่พวกเขาถูกคนส่วนใหญ่ในประเทศ รวมถึงสมาชิกชาติพันธุ์ยะไข่ มองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ โรฮิงญาเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ

การต่อต้านด้วยอาวุธต่อการปกครองของทหารทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2566 หลังจากกลุ่มพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม รวมถึงกองทัพอาระกัน เปิดฉากโจมตียึดดินแดนและเมืองต่างๆ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตามแนวชายแดนติดกับจีนได้สำเร็จ

ต่อมา จีนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยการหยุดยิงระหว่างกองทัพและพันธมิตรสามภราดรภาพเป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ การต่อสู้กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และทหารของรัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น