xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาสังหารชาวบ้าน 76 คนในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - โฆษกรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากองกำลังทหารและพันธมิตรในพื้นที่สังหารคน 76 คน เมื่อพวกเขาเข้าไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนในรัฐยะไข่ สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐรายงาน

รัฐยะไข่กลายเป็นจุดศูนย์กลางของสงครามกลางเมืองทั่วประเทศของพม่า ที่กองกำลังติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่อสู้กับผู้ปกครองทหารของประเทศที่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2564 หลังกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี

การสู้รบที่นั่นยังทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าความรุนแรงต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาจะฟื้นกลับมา เหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2560 ที่ผลักดันให้สมาชิกของโรฮิงญาอย่างน้อย 740,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศเพื่อความปลอดภัย

ข้อกล่าวหาการสังหารหมู่ในหมู่บ้านบยินพยู ของรัฐยะไข่ มาจากกองทัพอาระกัน กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ปฏิบัติการโจมตีค่ายทหารในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีก่อน พวกเขาเข้าควบคุมเมือง 9 แห่งจาก 17 แห่งในรัฐยะไข่ และอีกหนึ่งแห่งในรัฐชิน ที่อยู่ติดกัน

หมู่บ้านบยินพยู ชานเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ อยู่ในสถานที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงอ่าวเบงกอลได้ง่าย

กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธอย่างดีของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ชาวพุทธยะไข่ ที่แสวงหาการปกครองตนเองจากรัฐบาลกลางของพม่า

อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการยึดเมืองบุติด่อง เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ถูกกล่าวหาว่าบังคับให้ชาวเมืองประมาณ 200,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮิงญาต้องอพยพออกจากบ้านของตน และเผาสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ในพื้นที่

กองทัพอาระกันปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกล่าวโทษกองทัพสำหรับการเผาเมือง แต่ชาวเมืองให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวโดยบอกกับสำนักข่าวเอพีว่ากองทัพอาระกันเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างของแต่ละฝ่ายไม่สามารถตรวจสอบได้โดยอิสระ เนื่องจากข้อจำกัดเข้มงวดของการเดินทางในภูมิภาค ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบรายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวได้โดยตรง

รายละเอียดของเหตุการณ์ในหมู่บ้านบยินพยู ก็มีข้อโต้แย้งเช่นเดียวกัน โดยหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อาลิน รายงานอ้างคำกล่าวของซอ มิน ตุน โฆษกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ระบุว่ากองกำลังทหารเข้าไปในหมู่บ้านเมื่อวันที่ 29 พ.ค. เพื่อตามหาสมาชิกของกองทัพอาระกันและควบคุมคนไว้ประมาณ 20 คน เพื่อสอบปากคำ

เขากล่าวว่ากองกำลังความมั่นคงยิงผู้ต้องสงสัยชาย 3 คน ที่ไม่ใช่ชาวบ้านในหมู่บ้าน ขณะที่พวกเขาพยายามยึดปืนจากเจ้าหน้าที่กองทัพ แต่ไม่มีการสังหารหมู่ใดๆ

คำแถลงของกองทัพอาระกันที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารระบุว่าทหารราว 170 นายจากกองบัญชาการทหารในเมืองสิตตเว พร้อมด้วยสมาชิกติดอาวุธของกลุ่มยะไข่ที่สนับสนุนกองทัพ และชาวมุสลิมท้องถิ่นที่กองทัพเกณฑ์มา ได้จับกุมทุกคนในหมู่บ้านบยินพยู และฆ่าคนไป 76 คน

กองทัพอาระกันอ้างว่ากองกำลังฝ่ายรัฐได้ปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมอย่างทารุณโหดร้ายและข่มขืนผู้หญิง 3 คน

มีผู้อยู่อาศัยเพียง 1 ใน 20 คน จากพื้นที่ที่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวเอพียินดีที่จะพูดถึงเหตุการณ์ ขณะที่หลายคนกล่าวว่าพวกเขาจะไม่พูดคุยเพราะกังวลเกี่ยวกับเพื่อนและสมาชิกครอบครัวที่ถูกควบคุมตัว

ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่าน้องชายของเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมตัว แต่เธอไม่รู้ว่ามีคนถูกฆ่ากี่คน หรือว่าน้องชายของเธอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เตือนถึงรายงานที่น่าสะพรึงกลัวและน่ากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของความรุนแรงรอบใหม่ในรัฐยะไข่ โดยชี้ให้เห็นถึงการโจมตีพลเรือนโรฮิงญาครั้งใหม่โดยกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้กัน

การต่อสู้ในรัฐยะไข่ได้ก่อให้เกิดความกังวลเนื่องจากชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาอาจเผชิญกับการประหัตประหารอย่างรุนแรงครั้งใหม่

โรฮิงญาเป็นเป้าของการรณรงค์ต่อต้านการก่อความไม่สงบอันโหดร้ายที่รวมถึงการข่มขืนและการฆาตกรรม ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 740,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง ในขณะที่หมู่บ้านของพวกเขาถูกกองกำลังทหารของรัฐบาลเผาทำลายในปี 2560

แม้โรฮิงญาจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่พวกเขาถูกพิจารณาจากคนส่วนใหญ่ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของชนกลุ่มน้อยยะไข่ ว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ โรฮิงญาเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและอคติ ถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ

หลังจากกองทัพอาระกันยึดเมืองบุติด่องในวันที่ 18 พ.ค. นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญากล่าวว่า กองทัพอาระกันเผาบ้านในเมืองบุติด่อง และบังคับให้ชาวเมืองต้องหลบหนี แต่กองทัพอาระกันปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่มีมูลความจริง และกล่าวโทษการทำลายล้างดังกล่าวว่าเป็นฝีมือของกองกำลังของรัฐบาลทหารและชาวมุสลิมในท้องถิ่นที่ช่วยกันต่อสู้.


กำลังโหลดความคิดเห็น