xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียลงนามข้อตกลงกับเวียดนามนับสิบฉบับ เดินหน้ากระชับสัมพันธ์ในเอเชียชดเชยถูกตะวันตกโดดเดี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ลงนามข้อตกลงอย่างน้อย 12 ฉบับกับผู้นำเวียดนามวันนี้ (20) และเสนอที่จะจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวให้เวียดนามในระยะยาว ในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นในขณะที่มอสโกพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในเอเชียเพื่อชดเชยการโดดเดี่ยวจากนานาประเทศที่ขยายตัวขึ้นเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

ปูติน และประธานาธิบดีโต เลิม เห็นพ้องกันที่จะขยายความร่วมมือในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสำรวจน้ำมันและก๊าซ พลังงานสะอาด และสุขภาพ ทั้งสองประเทศยังตกลงกันที่จะจัดทำแผนงานสำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเวียดนาม

จากข้อตกลง 12 ฉบับที่ประกาศต่อสาธารณะ ไม่มีข้อตกลงใดเกี่ยวข้องกับการป้องกัน แต่ผู้นำเวียดนามกล่าวว่า ยังมีข้อตกลงอื่นๆ ที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะด้วย

หลังการหารือของพวกเขา ปูตินกล่าวว่าสองประเทศมีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาสถาปัตยกรรมความมั่นคงที่เชื่อถือได้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่มีที่ว่างสำหรับกลุ่มการเมืองและทหารแบบปิด ส่วนผู้นำเวียดนามกล่าวเสริมว่าทั้งรัสเซียและเวียดนามต้องการเพิ่มความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคงเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

“การเยือนจีนเมื่อไม่นานนี้ของปูติน และตอนนี้เกาหลีเหนือ และเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะทลายการโดดเดี่ยวระหว่างประเทศ” เหวียน คัก ซาง นักวิเคราะห์จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าว

ซางกล่าวว่า รัสเซียมีความสำคัญต่อเวียดนามด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ทางทหารรายใหญ่ที่สุดให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเทคโนโลยีการสำรวจน้ำมันของรัสเซียช่วยรักษาการอ้างสิทธิอธิปไตยของเวียดนามในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่เป็นข้อพิพาท

เวียดนามยังมอบใบอนุญาตให้บริษัทน้ำมัน Zarubezhneft เพื่อพัฒนาแปลงนอกชายฝั่งบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

ปูตินเดินทางถึงกรุงฮานอยในเช้าวันพฤหัสฯ (20) จากเกาหลีเหนือ หลังจากลงนามข้อตกลงเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีขึ้นในขณะที่ทั้งสองประเทศเผชิญกับการเผชิญหน้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับชาติตะวันตก และอาจเป็นเครื่องหมายถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

ในฮานอย ปูตินยังพบหารือกับนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเวียดนาม เหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และนายกรัฐมนตรีฝ่าม มีง จีง ตามการรายงานของสำนักข่าวเวียดนาม

ปูตินเดินทางต่อมายังทำเนียบประธานาธิบดีของเวียดนามในบ่ายวันพฤหัสฯ ที่เขาได้รับการต้อนรับจากเด็กนักเรียนที่โบกธงชาติรัสเซียและเวียดนาม

หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การเยือนเวียดนามครั้งสุดท้ายของปูตินในปี 2560 เวลานี้รัสเซียเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐฯ สำหรับการรุกรานยูเครน ในปี 2566 ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ได้ออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม ทำให้ผู้นำรัสเซียเดินทางไปต่างประเทศได้ยากขึ้น เครมลินปฏิเสธหมายดังกล่าวว่าเป็นโมฆะ โดยเน้นย้ำว่ามอสโกไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจของศาล

การเดินทางของปูตินส่งผลให้เกิดการตำหนิอย่างรุนแรงจากสถานทูตสหรัฐฯ ในเวียดนาม ที่ระบุว่า “ไม่ควรมีประเทศใดให้พื้นที่ปูตินส่งเสริมสงครามรุกรานของเขา และไม่ปล่อยให้เขาทำให้ความโหดร้ายของเขากลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าปูตินได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรี นั่นอาจทำให้การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้งของรัสเซียกลายเป็นเรื่องปกติ” สถานทูตสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง

ฮานอยและมอสโกมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี 2493 และในปีนี้ยังถือเป็นการครบรอบ 30 ปี ของการลงนามสนธิสัญญาเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างเวียดนามและรัสเซีย

ทั้งนี้ หลักฐานของความสัมพันธ์อันยาวนานและอิทธิพลของรัสเซียสามารถพบเห็นได้ในเมืองต่างๆ ของเวียดนาม เช่น ที่เมืองหลวงมีอาคารอพาร์ตเมนต์สไตล์โซเวียตหลายแห่งแต่ถูกบดบังด้วยตึกระฟ้า รูปปั้นของวลาดิมีร์ เลนิน ผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต ตั้งตระหง่านอยู่ในสวนสาธารณะที่เด็กเล่นสเกตบอร์ดทุกเย็น นอกจากนี้ ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสน์เวียดนามหลายคนศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหภาพโซเวียต รวมถึงเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรค

ในบทความที่เขียนให้หนังสือพิมพ์เญินเซินของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ปูตินขอบคุณเพื่อนชาวเวียดนามสำหรับจุดยืนที่สมดุลของพวกเขาต่อวิกฤตยูเครน และยกย่องประเทศว่าเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งของระเบียบโลกที่ยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ความเสมอภาค และการไม่แทรกแซงทางภูมิรัฐศาสตร์

นโยบายการทูตไผ่ลู่ลมของเวียดนาม แนวคิดที่เหวียน ฝู จ่อง เป็นผู้ประกาศขึ้นที่อ้างถึงความยืดหยุ่นของต้นไผ่ โอนอ่อนแต่ไม่แตกหักท่ามกลางกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก กำลังถูกทดสอบมากขึ้นเรื่อยๆ

เวียดนาม ศูนย์กลางการผลิตและเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นเจ้าภาพต้อนรับทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐนฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในปี 2566

การเยือนของปูตินมีความสำคัญต่อฮานอยในระดับทางการทูต โกลด์-เดวีย์ส อดีตนักการทูต กล่าว

“บางทีสำหรับเวียดนามอาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถรักษาสมดุลของการทูตไผ่ลู่ลมนี้ได้ และตลอดระยะเวลา 1 ปี พวกเขาเป็นเจ้าภาพการมาเยือนของประมุขแห่งรัฐของ 3 ประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ซึ่งน่าประทับใจมาก” โกลด์-เดวีย์ส กล่าว.


























กำลังโหลดความคิดเห็น