รอยเตอร์ - สภานิติบัญญัติของเวียดนามได้แต่งตั้งรองประธานาธิบดีหวอ ถิ แอ็ง ซวน เป็นรักษาการประมุขแห่งรัฐวันนี้ (21) หลังจากประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง กลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนล่าสุดที่หลุดจากตำแหน่งท่ามกลางการปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเข้มข้นของพรรคคอมมิวนิสต์
หวอ วัน เถือง อายุ 53 ปี ถูกถอดออกจากคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ หรือโปลิตบูโร ฐานละเมิดกฎระเบียบพรรค และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ออกจากตำแหน่งภายในเวลาเพียงปีกว่าในเวียดนาม ที่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำในช่วงไม่กี่ปีมานี้มักเกี่ยวข้องกับนโยบายปราบปรามการติดสินบน
ซวน หนึ่งในสตรีเพียงไม่กี่คนที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในการเมืองของเวียดนาม ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเพียงปีกว่า
“โปลิตบูโรได้มอบหมายให้หวอ ถิ แอ็ง ซวน เป็นรักษาการประธานาธิบดีจนกว่ารัฐสภาจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญของเวียดนาม” หนังสือพิมพ์ออนไลน์ VnExpress รายงาน และรัฐบาลได้ยืนยันการแต่งตั้งเธอด้วยเช่นกัน
ประธานาธิบดีมีบทบาทในด้านพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นหนึ่งใน 4 ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
ซวนเติมเต็มช่องว่างในช่วง 6 สัปดาห์หลังจากเหวียน ซวน ฟุก ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการละเมิดและการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเขา
หวอ วัน เถืองถูกมองอย่างกว้างขวางว่ามีความใกล้ชิดกับเลขาธิการพรรคเหวียน ฝู จ่อง ที่เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเวียดนาม และเป็นผู้กำกับการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อวันพุธ (20) คณะกรรมการกลางพรรคได้ยอมรับการลาออกของเถือง และถอดถอนเขาออกจากโปลิตบูโร ที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในประเทศ และตำแหน่งหัวหน้าสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติประมาณ 88% เห็นชอบการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในการลงมติวันนี้ (21)
คณะกรรมการระบุว่า ‘ข้อบกพร่องของเถืองส่งผลเชิงลบต่อความคิดเห็นของประชาชน กระทบชื่อเสียงของพรรค รัฐ และตัวเขาเอง’ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเขาทำอะไรผิด
นักลงทุนต่างชาติและนักการทูตกล่าวโทษการปราบปรามอย่างกว้างขวางว่าส่งผลให้การตัดสินใจช้าลงในประเทศที่กำลังต่อสู้กับระบบราชการที่ยุ่งยากอยู่แล้ว
นักวิเคราะห์กล่าวว่าวิกฤตการเมืองในปัจจุบันสามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่อย่างรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้นำระดับสูงหลายครั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจในประเทศที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศสูง
สภานิติบัญญัติอาจประกาศแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อมีการประชุมสมัยสามัญครั้งถัดไปในเดือน พ.ค. หรือเร็วกว่านั้นหากมีการประชุมนัดพิเศษ
แค็ง หวู ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจากวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่าการลาออกไม่ควรนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม โดยเฉพาะจุดยืนที่เป็นกลางของประเทศระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย กล่าวว่า “วอชิงตันมั่นใจว่าโมเมนตัมเชิงบวกในความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่เราดำเนินการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ครอบคลุม”.