รอยเตอร์ - แม้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จะดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานทั้งการปิดไฟและลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นแบบอย่าง เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเช่นปีก่อน แต่ธุรกิจหลายแห่งรอบกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศ ดูเหมือนจะเมินเฉยต่อการเรียกร้องรณรงค์ประหยัดพลังงานนี้ และยังคงเปิดไฟประดับตกแต่งนอกอาคารสูงอยู่ตลอดคืน
ความยากลำบากในการลดการใช้พลังงาน แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่เวียดนามกำลังเผชิญในช่วง 1 ปี หลังจากประสบปัญหาไฟฟ้าดับอย่างกะทันหันที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อผู้ผลิตข้ามชาติที่มีการลงทุนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
เวียดนามกำลังดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน ยกระดับโครงข่ายไฟฟ้า ปฏิรูปกฎระเบียบ และเพิ่มการผลิตพลังงานจากถ่านหิน ท่ามกลางความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ตามข้อมูลของรัฐบาลและการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ
แต่ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของการไฟฟ้าเวียดนามอธิบายว่า แม้จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างสายส่งใหม่มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่เชื่อมศูนย์กลางของประเทศไปยังพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาไฟดับเมื่อปีที่แล้ว ก็อาจยังไม่เพียงพอ
“ผมจะไม่พูดว่ามันเป็นตัวเปลี่ยนเกม” เขากล่าวถึงสายส่งไฟฟ้าที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้ โดยระบุว่าการใช้พลังงานคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องด้วยประเทศจะเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้น
ความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงทำให้ยากที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ต้องจัดหาพลังงานให้เพียงพอเพื่อตอบสนองนักลงทุนรายใหญ่ เช่น ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ฟ็อกซ์คอนน์ และแคนนอน
นักลงทุนต่างชาติและนักวิเคราะห์กล่าวว่า การปฏิรูปทั่วทั้งภาคส่วนอย่างกว้างขวางเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว
แต่ในระยะสั้น เวียดนามยังต้องพึ่งพาถ่านหินเป็นส่วนใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ให้เพียงพอ แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นของประเทศต่อการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 59% ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ และเกิน 70% ในบางวัน ตามข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเกือบ 45% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และ 41% ในปี 2564 เมื่อเวียดนามเริ่มร่างแผนที่จะลดการใช้ถ่านหินที่โน้มน้าวให้ผู้บริจาคนานาชาติบริจาคเงิน 15,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยประเทศยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
และด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เริ่มดำเนินการผลิตในปี 2566 ทำให้สัดส่วนของถ่านหินอยู่ที่ 33% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดในปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 30.8% ในปี 2563 ที่ส่งผลให้เวียดนามห่างไกลจากเป้าหมายที่จะลดการใช้ถ่านหินให้เหลือ 20% ภายในปี 2573
การอนุรักษ์พลังงานเป็นอีกเสาหลักสำคัญของแผนการ การไฟฟ้าเวียดนามและหน่วยงานท้องถิ่นได้สนับสนุนให้ลูกค้าที่ต้องการพลังงาน รวมถึงผู้ผลิตจากต่างประเทศ ให้ประหยัดพลังงานด้วยมาตรการที่ปรับให้เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง
แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเสี่ยงต่อชื่อเสียงของเวียดนามในฐานะสถานที่ลงทุนที่เชื่อถือได้ และอาจกระทบต่อแผนการขยายการผลิตในอนาคต ตามการระบุของนักลงทุนต่างชาติที่ปฏิเสธที่ระบุชื่อเนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ
นักลงทุนต่างชาติ 2 รายกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขด้วยการแก้ปัญหาในส่วนของการผลิตและจำหน่าย ไม่ใช่จากฝั่งของการบริโภค
กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์ในประเด็นนี้
เวียดนามกำลังใช้กำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมบนบกเพียงแค่บางส่วน เนื่องจากอุปสรรคในด้านการบริหารจัดการ
ทางการเวียดนามยังไม่อนุมัติกฎระเบียบในการเริ่มโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง และชะลอโครงการนำร่องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า ซึ่งสะอาดกว่าถ่านหิน
แหล่งพลังงาน 4 แห่งรวมกันน่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของกำลังการผลิตติดตั้งภายในปี 2573 ตามแผนของรัฐบาล แม้ว่านักวิเคราะห์จะยังมีข้อกังขาก็ตาม
คาดว่าไฟฟ้าพลังน้ำจะลดลงเหลือน้อยกว่า 20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งภายในสิ้นทศวรรษ จากมากกว่า 30% ในปี 2563
แต่กำลังเพิ่มการผลิตบางอย่างในภาคเหนือที่ความต้องการมีสูงกว่า
หนึ่งในเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่ฮว่าบิ่ง กำลังเพิ่มกังหันอีก 2 ตัว จากที่มีอยู่เดิม 8 ตัว ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 2.4 กิกะวัตต์ จากเดิมที่น้อยกว่า 2 กิกะวัตต์ ภายในครึ่งหลังของปี 2568 ผู้จัดการของโครงการขยายกำลังการผลิตของการไฟฟ้าเวียดนามกล่าวระหว่างพาสื่อเยี่ยมชมเขื่อน
โรงไฟฟ้าฮว่าบิ่ง เมื่อรวมกับสายส่งใหม่ที่ส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไปภาคเหนือ อาจเพิ่มกำลังการผลิต 8% ให้พื้นที่ภาคเหนือที่ต้องการพลังงานสูง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิกฤตด้านพลังงานไม่สามารถแก้ไขได้หากปราศจากการปฏิรูป แม้ในปัจจุบันจะมีความคืบหน้าไปอย่างช้าๆ ก็ตาม.