GPSC เผยกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 997 ล้านบาท ลดลง 77% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคาก๊าซฯ และถ่านหินพุ่งทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมลดลง
นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) (GPSC) เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 ว่าบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 27,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 18,234 ล้านบาท และมีกําไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 684 ล้านบาท ลดลง 1,618 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย ขณะที่ปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) เพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment : EP) เพิ่มขึ้นตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น
แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกําไรสุทธิเพิ่มขึ้น 371 ล้านบาท หรือร้อยละ 118 มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ตามอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) ที่ปรับเพิ่มขึ้น จาก 1.39 เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมที่เพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 ทำให้บริษัทฯ มี margin เพิ่มขึ้น
บริษัทฯ รับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษีจำนวน 561 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยได้รับจากการบริหารจัดการการผลิตและใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุน การผลิตและการขยายฐานลูกค้า และการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต
นายทิติพงษ์กล่าวว่า ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 34,858 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 997 ล้านบาท ลดลง 3,279 ล้านบาท หรือร้อยละ 77 จากงวด 6 เดือนแรกปี 2564 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ลดลง 4,889 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้น 613 ล้านบาท จากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment : EP) สอดคล้องกับแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น 313 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เติบโตเพิ่มเป็นร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาจากการฟื้นตัวอุปสงค์ภายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงเล็กน้อย จากร้อยละ 4.4 ในเดือนมีนาคม 2565 เป็นร้อยละ 4.2
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูง ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 ปรับขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในเดือนมีนาคม 2565 เป็นร้อยละ 6.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยราคาพลังงาน การปรับขึ้นราคาสินค้าเนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาและจัดเตรียมประกาศการปรับขึ้นค่า Ft อย่างเป็นทางการ สำหรับการเรียกเก็บรอบเดือนกันยายน ถึงธันวาคม 2565 โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นและการนำเข้า Spot LNG ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เพื่อทดแทนการผลิตที่ลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการเดิมประมาณร้อยละ 30