เอพี - ศาลฎีกาของพม่าปฏิเสธคำอุทธรณ์พิเศษของอองซานซูจี ผู้นำที่ถูกโค่นล้มของประเทศ ต่อคำตัดสินพิพากษาของเธอในคดีที่เธอถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่น จากการถูกกล่าวหาว่ารับทองคำและเงินหลายแสนดอลลาร์เป็นสินบนจากอดีตเพื่อนร่วมงานทางการเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย กล่าว
ซูจี วัย 78 ปี ถูกจับกุมตัวในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเธอ
เธอกำลังรับโทษจำคุกเป็นเวลา 27 ปี หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาอาญาหลายกระทง ที่ผู้สนับสนุนของเธอและนักวิเคราะห์อิสระกล่าวว่าถูกตั้งขึ้นเพื่อทำลายชื่อเสียงของเธอ และทำให้การยึดอำนาจของทหารมีความชอบธรรม
การพิจารณาคดีในวันจันทร์ไม่อนุญาตให้สื่อ นักการทูต และประชาชนเข้าสังเกตการณ์ และทนายความของซูจีถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายได้แจ้งคำตัดสินของศาลให้กับสำนักข่าวเอพี โดยยืนยันที่จะไม่เปิดเผยตัวตนเนื่องจากกลัวถูกลงโทษจากทางการ
ซูจีถูกตัดสินลงโทษฐานรับเงิน 600,000 ดอลลาร์ และทองคำแท่ง 7 แท่ง ในปี 2560-2561 จากเพียว มิน เต็ง อดีตมุขมนตรีนครย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเขายังเป็นอดีตสมาชิกอาวุโสของพรรคการเมืองของซูจีด้วย
เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เมื่อเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว หลังพบว่ามีความผิดฐานรับสินบน ทนายความของซูจีได้กล่าวไว้ก่อนที่ถูกคำสั่งห้ามพูดในช่วงปลายปี 2564 ว่า ซูจีปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชั่นทั้งหมดที่มีต่อเธอ ซึ่งเธอระบุว่าไร้สาระ
การอุทธรณ์พิเศษโดยปกติมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการอุทธรณ์ในพม่า แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์พิเศษสามารถตรวจสอบได้อีกครั้งหากหัวหน้าผู้พิพากษาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
การอุทธรณ์เบื้องต้นที่ทนายความของซูจียื่นอุทธรณ์ในคดีส่วนใหญ่ของเธอนั้นถูกศาลชั้นต้นปฏิเสธไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่การอุทธรณ์คำตัดสินของเธอต่อข้อหาโกงการเลือกตั้ง การละเมิดกฎหมายความลับของทางการ และข้อหาคอร์รัปชั่นอื่นๆ อีก 5 กระทง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกล่าว
ทีมกฎหมายของซูจีเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง รวมถึงการไม่สามารถพบหารือกับซูจีเพื่อรับคำแนะนำจากเธอได้ พวกเขายื่นคำร้องขออนุญาตเข้าพบซูจีอย่างน้อย 6 ครั้ง นับตั้งแต่พบซูจีด้วยตนเองครั้งสุดท้ายในเดือนธ.ค. 2565 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ จากทางการ
พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในปี 2564 ที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงอย่างสันติทั่วประเทศ ที่รัฐบาลทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดการต่อต้านด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง ที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติบางคนมองว่าเป็นสงครามกลางเมือง.