xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสิทธิฯ จี้ทางการอินโดนีเซียสอบ บ.ผลิตอาวุธในประเทศ ต้องสงสัยจัดส่งอาวุธให้พม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้อินโดนีเซียตรวจสอบบริษัทของรัฐที่ต้องสงสัยว่าจำหน่ายอาวุธไปยังพม่า ในขณะที่อินโดนีเซียพยายามส่งเสริมสร้างความปรองดองนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซียเมื่อวันจันทร์ (2) โดยกล่าวหาว่าบริษัทผู้ผลิตอาวุธที่รัฐเป็นเจ้าของ 3 แห่ง ได้ขายอุปกรณ์ให้พม่านับตั้งแต่การรัฐประหาร เฟรี อัมซารี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนักเคลื่อนไหวระบุ

พม่าได้รับความเสียหายจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีเมื่อกว่า 2 ปีก่อน

กลุ่มที่ยื่นเรื่องร้องเรียนประกอบด้วยองค์กรในพม่า 2 แห่ง คือ Chin Human Rights Organisation และ Myanmar Accountability Project และมาร์ซูกิ ดารุสมาน อดีตอัยการสูงสุดและผู้สนับสนุนด้านสิทธิของอินโดนีเซีย

พวกเขากล่าวหาในคำร้องเรียนของพวกเขาว่า PT Pindad บริษัทผู้ผลิตอาวุธของรัฐ PT PAL บริษัทผู้ผลิตเรือของรัฐ และ PT Dirgantara Indonesia บริษัทด้านการบินและอวกาศ จัดหาอุปกรณ์ให้พม่าผ่านบริษัท True North ที่พวกเขากล่าวว่าเป็นกิจการของลูกชายรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารพม่า

ทั้ง PT Pindad และ PT PAL ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์ แต่ผู้อำนวยการ PT Pindad กล่าวกับสื่อก่อนหน้านี้ว่าบริษัทไม่ได้ขายสินค้าให้พม่าตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่ PT Dirgantara Indonesia กล่าวว่า บริษัทไม่เคยมีข้อตกลงกับพม่าหรือบุคคลที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง

ด้านบริษัท True North ของพม่าไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์ แต่ข้อมูลของบริษัทที่รอยเตอร์ได้เห็นระบุว่าผู้ผลิตอาวุธของอินโดนีเซีย 3 แห่งนี้เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า พม่าซื้อสินค้าหลายอย่างจากบริษัทรวมถึงปืนพก ปืนไรเฟิล และยานพาหนะต่อสู้

ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อินโดนีเซียพยายามเข้าถึงทั้งกองทัพพม่าและฝ่ายตรงข้าม ในความหวังที่จะอำนวยความสะดวกในการเจรจา

อินโดนีเซียลงมติเห็นชอบในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมดยุติการส่งอาวุธให้พม่าหลังการรัฐประหาร

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า กำลังศึกษาคำร้องเรียนดังกล่าว ส่วนโฆษกกระทรวงกลาโหมไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์

ดารุสมานกล่าวว่า คณะกรรมการด้านสิทธิมีหน้าที่ต้องสอบสวนเรื่องนี้เนื่องจากบริษัทเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของรัฐบาล

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์พม่ารายงานในเดือน พ.ค. ว่ากองทัพพม่าได้นำเข้าอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องรวมมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัฐประหาร โดยส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย จีน สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย.
กำลังโหลดความคิดเห็น