เอเอฟพี - ชาวกัมพูชาเดินทางออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในวันนี้ (23) ในการเลือกตั้งที่ ฮุนเซน ผู้นำกัมพูชาที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานใกล้จะคว้าชัยชนะอีกครั้ง ขณะที่เขาพยายามจะรักษามรดกของเขาไว้ด้วยส่งต่อบังเหียนให้ลูกชายคนโต
อดีตทหารเขมรแดงวัย 70 ปี ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2528 ไม่ได้เผชิญกับการแข่งขันที่แท้จริงใดๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านถูกตัดสิทธิ คู่แข่งหลายคนจำต้องหลบหนี และเสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด
พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของเขามีแนวโน้มที่จะรักษาที่นั่งทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภาล่าง ที่ขยายเวลาการกุมอำนาจออกไปและปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ที่นักวิจารณ์บางคนเปรียบเทียบกับการเมืองเกาหลีเหนือ
พรรคฝ่ายค้านที่จริงจังเพียงพรรคเดียวถูกตัดสิทธิด้วยเหตุผลด้านเอกสารในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจหากพรรคเล็กๆ อีก 17 พรรค ชนะได้ที่นั่งในสภา
ฮุนเซนเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งชานกรุงพนมเปญ พร้อมภริยา เพื่อลงคะแนนเสียงไม่นานหลังหน่วยเลือกตั้งเปิดในเวลา 7.00 น. ตามการรายงานของนักข่าว
สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ปฏิเสธที่จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งมีความเสรีและเป็นธรรม ทำให้มีเพียงเจ้าหน้าที่จากรัสเซีย จีน และกินี-บิสเซา เท่านั้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์
ประชาชนมากกว่า 9.7 ล้านคน ลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ 7 นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนเกิดขึ้นในปี 2536 หลังจากประเทศอยู่ภายใต้ความขัดแย้งนานหลายปี ที่รวมถึงยุคของเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้ประเทศเสียหายยับเยิน
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความหวังใดๆ ก็ตามที่ประชาคมระหว่างประเทศอาจมีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคที่สดใสในกัมพูชา ถูกบั่นทอนลงจากการปกครองของฮุนเซน
ฮุนเซนเริ่มมองไปยังอนาคต โดยกล่าวว่าเขาจะส่งมอบให้ลูกชายของเขา ฮุน มาเนต นายพลระดับ 4 ดาว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“เราใช้สิทธิและความรับผิดชอบของพลเมืองออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกพรรคที่เรารักให้เป็นผู้นำประเทศ” ฮุน มาเนต วัย 45 ปี กล่าวกับนักข่าวหลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง
หลายคนสงสัยว่า ฮุน มาเนต ที่ได้รับการศึกษาจากทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศหรือไม่ แม้ว่า ฮุนเซน จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาตั้งใจที่จะใช้อิทธิพลอำนาจอยู่ต่อไป แม้ลูกชายของเขาจะเข้าครองอำนาจแล้วก็ตาม
ในขณะที่ฮุน มาเนต ที่นำการเดินขบวนหาเสียงครั้งสุดท้ายของพรรค CPP ในกรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์ บอกกล่าวกับฝูงชนว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประเทศ แต่นักวิจารณ์จะไม่เห็นด้วย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ประณามการเลือกตั้งครั้งนี้
ในวันก่อนการเลือกตั้ง แนวร่วม 17 องค์กร ที่รวมถึงเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) และสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ระบุว่า การเลือกตั้งมีความน่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง
“การใช้สิทธิเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นบ่งชี้ว่าไม่ปรากฏถึงความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความครอบคลุมในกระบวนการเลือกตั้ง” กลุ่มพันธมิตรระบุในคำแถลงที่ออกในวันเสาร์
ความท้าทายที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวสำหรับพรรค CPP มาจากพรรคแสงเทียน แต่ในเดือน พ.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติปฏิเสธที่จะจดทะเบียนพรรค ทำให้พรรคไม่มีสิทธิร่วมลงเลือกตั้ง
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพรรคแสงเทียนทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดไว้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีก่อน โดยได้คะแนนนิยมถึง 22%
ก่อนการเลือกตั้ง พรรคแสงเทียนกล่าวกับเอเอฟพีว่าคำตัดสินเกี่ยวกับการลงทะเบียนดังกล่าวหมายความว่าไม่มีทางที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเสรีและเป็นธรรม
“ทุกคนรู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ” รง ชุน รองหัวหน้าพรรคแสงเทียน กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีบรรยากาศแห่งความสิ้นหวังในหมู่ประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงภายใต้การปรากฏตัวของตำรวจตามหน่วยเลือกตั้งในกรุงพนมเปญ
“ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านเหลืออยู่เลย” ชาวกัมพูชาวัย 51 ปี กล่าว
ก่อนการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดอย่างหนัก โดยหนึ่งในสำนักข่าวอิสระที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศถูกปิดตัวลงในปีนี้
และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ฮุนเซนยังสั่งปรับแก้กฎหมายเลือกตั้ง โดยกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อคู่แข่งของเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สม รังสี ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาเกือบทศวรรษเพื่อเลี่ยงความผิดทางอาญาที่เขากล่าวว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง และแกม สุขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกกักบริเวณในบ้านพักหลังจากถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ฐานกบฏในข้อหาวางแผนกับชาวต่างชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฮุนเซน
ทั้งนี้ การเลือกตั้งจะปิดหีบลงคะแนนในเวลา 15.00 น.