รอยเตอร์ - วาติกันและเวียดนามมีกำหนดที่จะดำเนินขั้นตอนสำคัญในการปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมายาวนานจากการบรรลุข้อตกลงที่ฮานอยจะอนุญาตให้สันตะสำนักมีผู้แทนประจำในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ แหล่งข่าวระบุ
ข้อตกลงดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประกาศขึ้นระหว่างการเยือนนครรัฐวาติกันในปลายเดือนนี้ของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักวาติกันและนักการทูตในกรุงฮานอยที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้
“เราหวังให้สิ่งนี้เป็นจุดเปลี่ยน” เจ้าหน้าที่ของสำนักวาติกันกล่าวกับรอยเตอร์ โดยวาติกันได้ขอให้ฮานอยอนุญาตให้มีผู้แทนองค์สมเด็จพระสันตะปาปาประจำประเทศมานานกว่า 10 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้บรรลุในหลักการเมื่อปีก่อน
แหล่งข่าวทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า พวกเขาคาดหวังว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟราสซิสจะทรงรับประธานาธิบดีด้วยพระองค์เอง ที่จะเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปา และประธานาธิบดีของเวียดนาม นับตั้งแต่ประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง เดินทางเยือนในปี 2559
ในเวียดนาม มีชาวคาทอลิกเกือบ 7 ล้านคน หรือประมาณ 6.6% ของประชากร 95 ล้านคน
เวียดนามทำลายความสัมพันธ์กับวาติกันหลังคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองและรวมประเทศ หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 ในเวลานั้น ทางการมองว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกในเวียดนามมีความใกล้ชิดกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมมากเกินไป
ปัจจุบัน พระอัครสังฆราชมาเร็ค ซาเลฟสกี้ ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำเวียดนาม ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ โดยรัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้เยือนเวียดนามได้เป็นครั้งคราว
ตามการระบุของสำนักข่าวคาทอลิกอิสระที่เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า รัฐบาลได้กำหนดข้อจำกัดบางประการกับกิจกรรมของคาทอลิก เช่น จำนวนเขตวัด
รัฐธรรมนูญของเวียดนามอนุญาตให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และสื่อของรัฐบาลปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการเสรีภาพทางศาสนานานาชาติของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้เวียดนามอยู่ในรายชื่อประเทศที่น่ากังวลเป็นพิเศษ
การจัดตั้งเอกอัครสมณทูตแห่งสันตะสำนักประจำเวียดนามอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ แต่ขั้นตอนดังกล่าวอาจใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากคณะทำงานร่วมที่ดำเนินการเจรจาข้อตกลงฉบับล่าสุดนี้ เริ่มทำงานในปี 2552.