เอพี - สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เดินหน้าแผนการซ้อมรบร่วมทางทะเลในเดือน ก.ย.นี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคจะจัดการฝึกซ้อมร่วมกันขึ้นเอง ในขณะที่หลายประเทศกำลังตอบสนองต่อการรุกรานอ้างสิทธิของจีนเหนือน่านน้ำด้วยท่าทีแข็งกร้าวขึ้น
กองทัพอินโดนีเซียกล่าวในวันอังคาร (20) ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดการประชุมวางแผนเบื้องต้นสำหรับการซ้อมรบร่วมที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 ก.ย. ใกล้พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้
จีนอ้างว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้อยู่ภายในเส้นประ 9 เส้น ที่จีนใช้กำหนดเขตแดนทางทะเลของตน ซึ่งสิ่งดังกล่าวนำมาสู่ความขัดแย้งตึงเครียดกับชาติอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ โดยเรือประมง และเรือทหารของจีนเพิ่มการรุกรานมากขึ้นในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทนี้
พล.ร.อ.ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินโดนีเซียระบุในตอนแรกว่าการฝึกซ้อมจะเกิดขึ้นในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ ที่อินโดนีเซียได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่าทะเลนาตูนาเหนือในปี 2560 เพื่อเน้นย้ำถึงการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว ที่รวมถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ที่ตั้งชื่อส่วนหนึ่งของน่านน้ำที่อ้างกรรมสิทธิ์ว่าทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงที่ออกในวันอังคาร (20) อินโดนีเซียที่เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังวางแผนการฝึกซ้อมที่น่านน้ำของทะเลนาตูนาใต้ ซึ่งอยู่นอกเส้นประ 9 เส้น
กัมพูชา และพม่าที่รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการประชุมวางแผนดังกล่าว ตามการระบุของกองทัพอินโดนีเซีย
หลังจากอินโดนีเซียประกาศเรื่องการฝึกซ้อมดังกล่าวเมื่อต้นเดือนหลังการประชุมเจ้าหน้าที่กลาโหมในบาหลี ฝ่ายกัมพูชาออกคำแถลงปฏิเสธว่าไม่มีการตัดสินใจใดๆ และระบุว่าถูกร้องขอให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทหาร ซึ่งกัมพูชากำลังจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
ในอดีต จีนอธิบายการมีอยู่ของประเทศในน่านน้ำพิพาทโดยอาศัยสิ่งที่จีนระบุว่าเป็นสิทธิในการทำประมงดั้งเดิม โดยเรือของจีนยังออกลาดตระเวนอยู่เป็นประจำนอกเกาะบอร์เนียว และใกล้กับสันดอนเจมส์ ทางตะวันออกของหมู่เกาะนาตูนา ดินแดนใต้สุดที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ พื้นที่ที่มาเลเซียก็อ้างสิทธิด้วยเช่นกัน
ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เรือยามฝั่งของจีนได้ยิงเลเซอร์เกรดทหารไปที่เรือลาดตระเวนของฟิลิปปินส์นอกแนวปะการังที่เป็นข้อพิพาท ทำให้ลูกเรือบางส่วนตาพร่าชั่วขณะ และยังทำให้มะนิลาเพิ่มการลาดตระเวนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท
ชาติอาเซียนเคยเข้าร่วมในการฝึกซ้อมทางทะเลกับประเทศอื่นๆ มาก่อน รวมทั้งสหรัฐฯ และจีน แต่การซ้อมรบร่วมในเดือน ก.ย. จะเป็นครั้งแรกที่มีเพียงกลุ่มอาเซียนเท่านั้น ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงจีน.