รอยเตอร์ - ธนาคารโลกระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าจะยังคง ‘ตกต่ำอย่างรุนแรง’ และจีดีพีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในปีงบประมาณจนถึงเดือน ก.ย. ในขณะที่ประเทศยังคงพัวพันอยู่ในความขัดแย้ง 2 ปีหลังกองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหาร
ความรุนแรงที่ลุกลาม การขาดแคลนพลังงานที่ย่ำแย่ลง และความล้มเหลวของนโยบาย จะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากความวุ่นวายทางการเมืองและสังคม ธนาคารโลกระบุในรายงานระดับภูมิภาค
“สภาพแวดล้อมทางธุรกิจไม่น่าจะดีขึ้น ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน การหยุดชะงักของโลจิสติกส์ ข้อจำกัดทางการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตรา และความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบยังคงมีอยู่” รายงานระบุ
กองทัพพม่าขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564 ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายที่กองทัพพยายามปราบปรามฝ่ายต่อต้าน การปราบปรามผู้เห็นต่างและการตอบโต้ที่เกิดขึ้นตามมาจากกลุ่มติดอาวุธส่งผลให้บริษัทต่างชาติต้องถอนตัวเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมือง การคว่ำบาตร และความเสียหายต่อชื่อเสียงของพวกเขา
ธนาคารโลกระบุว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของพม่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 แม้ว่าประเทศที่เหลือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นจากระดับต่ำในช่วงโรคระบาดก็ตาม
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของพม่าหดตัวลงประมาณ 18% ในปี 2564 ก่อนขยายตัว 3% ในปี 2565 ตามการระบุของธนาคารโลก
รายงานระบุว่า ครัวเรือนเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงเนื่องจากกำลังซื้อลดลง ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น โดยสกุลเงินจ๊าตร่วงลงราว 31% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมาจากการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการไปสู่การอาศัยการควบคุมของฝ่ายบริหาร รวมทั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางพม่าสั่งให้กระทรวงต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นงดใช้เงินตราต่างประเทศในการทำธุรกรรมภายในประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อเงินจ๊าต
ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์
เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่าพวกเขากำลังพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกล่าวโทษการบ่อนทำลายที่มีต่างชาติสนับสนุนสำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น.