นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตได้ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่เติบโตได้ 2.6% แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังฟื้นตัวจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้ช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากที่จีนเปิดประเทศ และการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
ในขณะที่ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/65 จากปัญหาการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกไทยในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐจะหดตัว 1.8%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 3.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.2% ต่อจีดีพี ขณะที่คาดว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน คิดเป็น 68% ของช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด
"เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3.6% แต่การฟื้นตัวยังช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้มาจากภาคท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ ขณะที่มาตรการด้านการคลังต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาในการดูแลราคาสินค้า และตรึงราคาพลังงานช่วยพยุงให้การบริโภคยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เสถียรภาพทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือราว 59% ต่อจีดีพี เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง แต่ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาพลังงานเป็นหลัก
พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกยังประเมินด้วยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตได้ราว 3.7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.3% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.8% ของจีดีพี
ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.0% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.4% ของจีดีพี
นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเชื่อว่าจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.5-3.7% แต่ในระยะยาวที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้สูงมาก เพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า แต่มองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน เนื่องจากยังมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการเงิน และการคลังที่จะสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง
โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจควรต้องดำเนินการ โดยเฉพาะภาคบริการ และการลงทุนของภาครัฐที่ต้องปรับตัวและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาครัฐจึงควรต้องมีสวัสดิการที่เจาะจงไปในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น
ประเด็นสำคัญในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย คือ ภาคบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รายได้ดี และใช้แรงงานที่มีทักษะสูง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาในภาคบริการที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ยังมีข้อจำกัด
ส่วนภาคการท่องเที่ยวต้องมีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ตเท่านั้น รวมทั้งต้องยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านท่องเที่ยว เราคิดว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ
สำหรับเรื่องหนี้ครัวเรือนนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ยังถือว่าหนี้สินครัวเรือนค่อนข้างสูง เพราะส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หลักๆ เป็นหนี้สำหรับที่อยู่อาศัย หนี้สำหรับการบริโภค หนี้บัตรเครดิต จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้
"ต้องเร่งปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐที่ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปเรื่องสวัสดิการที่พุ่งเป้า เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนจนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เรื่องระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการปฏิรูปในวงกว้าง เพื่อเสริมทักษะให้เยาวชน หรือคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว