MGR Online - สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจนับร้อยคนจากอำเภอปี้ซาน นครฉงชิ่ง เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลทหารกำลังให้การสนับสนุน
วานนี้ (22 มี.ค.) ที่โรงแรมลอตเต้ ในกรุงย่างกุ้ง สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า (Union of Myanmar Federation of Chamber of Commerce and Industry : UMFCCI) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-พม่า มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน โดยกลุ่มหลักเป็นเหล่านักธุรกิจ เจ้าของกิจการ จากอำเภอปี้ซาน (Bishan) นครฉงชิ่ง ที่สนใจเข้ามาลงทุนในพม่า ร่วมถึงนักธุรกิจและเจ้าของกิจการชาวพม่าอีกหลายรายที่กำลังหาผู้ร่วมทุนชาวจีน
หัวข้อหลักที่ถูกนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ เป็นการให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจ เจ้าของกิจการจากปี้ซาน เกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ของพม่าที่ยังต้องการผู้เข้ามาลงทุน เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านสาธารณสุข แต่หัวข้อที่เน้นหนักเป็นพิเศษ คือ การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กำลังเปิดเสรีให้มีการลงทุนอย่างครบวงจร
ผู้ที่ขึ้นบรรยายให้ข้อมูล ประกอบด้วย อู เอวิน ประธาน UMFCCI อู เส่งวินอ่อง นายกสมาคมมิตรภาพพม่า-จีน ร่วมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักผู้อำนวยการการจัดการบริษัทและการลงทุนเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration : DICA) และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
อู เอวิน ประธาน UMFCCI เป็นผู้ขึ้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดเสรีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ อู วินเฉ่ง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการคลัง ได้ลงนามในประกาศฉบับที่ 90/2022 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ให้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ เพราะรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐต้องการกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเพื่อพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
เนื้อหาในประกาศครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบที่จะนำเข้าไปขายในพม่า ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ รถยนต์ที่ถูกนำเข้าไปทั้งคัน (CBU) รถยนต์ที่นำชิ้นส่วนและอะไหล่เข้าไปประกอบในพม่า (CKD) หรือการนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่เข้าไปบางส่วน (SKD)
อู เส่งวินอ่อง นายกสมาคมมิตรภาพพม่า-จีน ได้ขึ้นให้ข้อมูลของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ 3 แห่งในพม่า ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า ซึ่งได้เปิดดำเนินการแล้วในเขตสิเรียม ทางตอนใต้ของกรุงย่างกุ้ง ที่เป็นการลงทุนของกลุ่มธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ในจังหวัดเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ในภาคตะวันตกของพม่า ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มวิสาหกิจจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในจังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี ซึ่งรัฐบาลพม่าเคยให้สัมปทานแก่นักธุรกิจไทย แต่ได้ถูกยึดสัมปทานคืนเพราะไม่มีความคืบหน้า และกำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ลงทุนรายใหม่
ข้อมูลจากสำนักผู้อำนวยการการจัดการบริษัทและการลงทุนพม้า ระบุว่า จนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนจากจีนได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอยู่ในพม่า 583 แห่ง และมีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม 524 แห่ง.