xs
xsm
sm
md
lg

“มินอ่องหล่าย” เดินเกมซื้อใจคนรัฐชาน “หอหลวงใหม่เชียงตุง” สร้างเสร็จปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองหอหลวงเชียงตุงที่กำลังสร้างใหม่ ซึ่งยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมของหอหลวงเก่าที่ถูกกองทัพพม่าระเบิดทิ้งไปเมื่อปี 2534 (ภาพจาก Shan News)
MGR Online - หอหลวงใหม่เชียงตุงคืบหน้าแล้ว 60% คาดสร้างเสร็จปลายปีนี้ ขณะที่ “มินอ่องหล่าย”ยังคงเดินเกมซื้อใจกลุ่มต่างๆ ในรัฐชาน อนุมัติสร้างหอหลวงหลังใหม่ที่เมืองแสนหวี รวมถึงสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยบ้านไฮ ป้อนไฟให้ บก.ทัพรัฐชานเหนือ

วานนี้ (21 มี.ค.) สำนักข่าว Shan News รายงานว่า หอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่บริเวณริมหนองตุง ฝั่งทิศตะวันตก ขณะนี้คืบหน้าไปแล้ว 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% คาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณปลายปี 2566 นี้

จายสามติ๊บเสือ กรรมการฟื้นฟูประวัติศาสตร์และมรดกรัฐชานภาคตะวันออก กล่าวว่า ตามแผนเดิมกำหนดว่า หอหลวงหลังใหม่จะสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 แต่แผนการก่อสร้างได้ถูกยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 6-7 เดือน เป็นประมาณปลายปี และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบการจัดวางสิ่งของต่างๆ ในหอหลวงหลังใหม่โดยเฉพาะ


ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ชุมชนออนไลน์ของเชียงตุงมีรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างหอหลวงหลังใหม่ โดยเพจ Kengtung City ได้เผยแพร่ภาพการก่อสร้าง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในขั้นตอนวางฐานราก แต่ล่าสุด จากการเปิดเผยของจายสามติ๊บเสือ ขณะนี้ได้สร้างตัวอาคารขึ้นไปถึงชั้น 2 แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการมุงหลังคา

หอหลวงเชียงตุงมีบทบาทสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในฐานะศูนย์กลางทางจิตใจของชาวเชียงตุง และชาวไตในทุกเมืองของรัฐชาน

เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงลำดับที่ 40 (พ.ศ.2439-2478) ดำริให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นเมื่อปี 2449 เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่สร้างขึ้นจากปูนซีเมนต์หลังแรกของเมืองเชียงตุง มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างอาคารของอังกฤษและอินเดีย ถือเป็นอาคารที่สวยงามที่สุดหลังหนึ่งของเชียงตุงในยุคนั้น

นอกจากเป็นสถานที่พำนักของเจ้าฟ้า และเชื้อพระวงศ์แล้ว หอหลวงเชียงตุงยังถูกใช้เป็นสถานที่ว่าราชการ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงใช้จัดงานราชพิธีสำคัญต่างๆ


อย่างไรก็ตาม หลังนายพลเนวินปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองพม่าเมื่อปี 2505 กองทัพพม่าได้ยึดหอหลวงเชียงตุงมาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ กระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ยุคที่นายพลตานฉ่วย เป็นผู้นำสหภาพพม่า กองทัพพม่าได้ระเบิดหอหลวงเชียงตุงทิ้ง สร้างความสะเทือนใจแก่ของคนเชียงตุงและชาวไตทุกกลุ่มในรัฐชาน

กองทัพพม่าได้มอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งของหอหลวงให้บริษัทเอกชนเช่าสร้างเป็นโรงแรม ใช้ชื่อว่าโรงแรมนิวเชียงตุง และเปลี่ยนเป็นโรงแรมอเมซซิ่ง เชียงตุง ในภายหลัง

วันที่ 3 สิงหาคม 2562 หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลบริหารประเทศแล้ว 2 ปี ทายาทของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง และชาวเชียงตุงจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลพรรค NLD ให้คืนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งหอหลวงหลังเดิมให้ทายาทเจ้ารัตนะก้อนแก้วฯ เพื่อจะสร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่

แต่รัฐบาลพรรค NLD ได้ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าที่ดินแปลงนี้ได้มอบให้นักธุรกิจ 2 รายเช่าเพื่อสร้างโรงแรมไปแล้ว โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการลงทุนพม่า (MIC) สัญญาเช่ามีอายุ 70 ปี จึงไม่สามารถคืนที่ดินให้ได้ตามข้อเรียกร้อง

การก่อสร้างหอหลวงหลังใหม่ที่ริมหนองตุง ซึ่งเพจ Kengtung City นำมาเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2566
หลังทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ได้เดินเกมซื้อใจกลุ่มต่างๆ ในรัฐชาน เริ่มจากการอนุมัติให้สร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ขึ้นบนที่ดินซึ่งเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุง ริมหนองตุงทางฝั่งตะวันตก ซึ่งแม้ไม่ใช่เป็นที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งของหอหลวงหลังเดิม แต่ก็อยู่ติดกัน และหอหลวงที่สร้างใหม่ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมของหอหลวงหลังเดิม

พื้นที่หอหลวงหลังใหม่ที่กำลังสร้าง กว้าง 300 ฟุต ยาว 200 ฟุต ใช้งบประมาณก่อสร้าง 4,000 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 80 ล้านบาท

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ทำพิธีวางอิฐเงิน อิฐคำ เริ่มต้นก่อสร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้มาเป็นประธานในพิธีวางอิฐเงิน อิฐคำ ซึ่งเทียบได้กับการวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างหอหลวงหลังใหม่ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย ยังได้อนุมัติให้สร้างหอหลวงเมืองแสนหวีขึ้นใหม่ แทนหอหลวงหลังเดิมที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ พล.ต.ไหน่ไหน่อู ผู้บัญชาการทหารเขตตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในเมืองล่าเสี้ยว เดินทางมาตรวจความคืบหน้าของการก่อสร้างหอหลวงแห่งนี้

SAC โดยสภาบริหารแห่งรัฐ รัฐชาน ยังได้อนุมัติให้สร้างสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 66/11 kV 5 MVA ขึ้นที่บ้านไฮ อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานบัญชาการของกองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐชานใต้ โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อู อ่องจ่อเอ มุขมนตรีรัฐชาน เพิ่งมาเป็นประธานเปิดสถานีไฟฟ้าย่อยแห่งนี้อย่างเป็นทางการ.



พิธีเปิดใช้สถานีไฟฟ้าย่อยที่บ้านไฮ เมืองเกซี ฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพรัฐชานเหนือ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 (ภาพจาก Shan News)


กำลังโหลดความคิดเห็น