เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่พม่าพบหารือกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาวันนี้ (15) ในสิ่งที่ทางการบังกลาเทศกล่าวว่า เป็นการฟื้นความพยายามที่หยุดชะงักมานานในการนำชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกลับสู่บ้านเกิดของพวกเขา
บังกลาเทศเป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ที่เวลานี้อยู่ภายใต้การสอบสวนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ
ในเวลาต่อมา ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงที่จะส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศ แต่มีความคืบหน้าเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ปล่อยให้ผู้ลี้ภัยต้องอิดโรยอยู่ในค่ายบรรเทาทุกข์ที่สกปรกทรุดโทรม
ชามซูด โดวซา เจ้าหน้าที่ด้านผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศกล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่พม่า 17 คน นำโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง เดินทางมาถึงเมืองเทคนาฟในเช้าวันพุธ (15)
คณะผู้แทนจากพม่าจะสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญามากกว่า 700 คน เพื่อประเมินความเหมาะสมในการเดินทางกลับพม่า
นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 ที่คณะเจ้าหน้าที่พม่าเดินทางมาสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเพื่อส่งตัวกลับ เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับเอเอฟพีโดยไม่เปิดเผยชื่อ
“เราคาดว่าการส่งกลับประเทศจะเริ่มได้ก่อนหน้ามรสุม” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าว โดยอ้างถึงฝนที่ตกในพื้นที่ทุกเดือน มิ.ย.
เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะไม่มีชาวโรฮิงญาคนใดถูกส่งกลับโดยไม่สมัครใจ
โฆษกของรัฐบาลทหารพม่ายืนยันการเยือนของคณะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกับเอเอฟพี แต่ระบุว่าเขาไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้
จีนกำลังไกล่เกลี่ยระหว่าง 2 ประเทศเกี่ยวกับการผลักดันการส่งกลับประเทศครั้งใหม่ และเอกอัครราชทูตปักกิ่งประจำกรุงธากา กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันอังคารว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้
ในเดือนนี้ นักการทูตของจีนและบังกลาเทศได้เดินทางเยือนพื้นที่ชายแดนพม่าเพื่อตรวจสอบการเตรียมการสำหรับการส่งกลับผู้ลี้ภัย สถานทูตจีนในพม่าระบุ
แผนการส่งโรฮิงญากลับประเทศที่ตกลงกันในปี 2560 ไม่เกิดความคืบหน้าสำคัญใดๆ มาเป็นเวลาหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลว่าชาวโรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยหากพวกเขาเดินทางกลับ และแผนการได้หยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหลังจากทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในปี 2564
รัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของพม่า ที่เป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ของโลกก่อนการปราบปรามปี 2560 ยังเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุความไม่สงบระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธกองทัพอาระกัน
หญิงชาวโรฮิงญารายหนึ่งที่มีกำหนดเข้าสัมภาษณ์กับคณะผู้แทนพม่ากล่าวว่า เธอไม่เต็มใจที่จะเดินทางกลับ เว้นแต่การกลับไปพม่านั้นมีความปลอดภัย
“พวกเขาต้องรับรองความปลอดภัยของเรา ถ้าหากพวกเขารับรองความปลอดภัยในชีวิตของเราและถ้าเราได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง เราก็จะกลับไปพม่า” หญิงชาวโรฮิงญา กล่าว.