MGR Online - เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์ของลาว เมื่อปรากฏภาพเด็กนักเรียนหิ้วขวดน้ำดื่มพลาสติก ขึ้นไปดับไฟป่าบนภูเขาที่หลวงพระบาง ฝ่ายปกครองชี้เป็นกรณีสะเก็ดไฟปลิวไปตกในป่าไผ่ข้างโรงเรียน ต้องช่วยกันรีบดับก่อนลามออกไปพื้นที่อื่น และใช้เวลาไม่นานก็ดับได้หมด
วันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์ของลาว เมื่อ “โทละโข่ง” เพจข่าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีผู้ติดตามมากกว่า 1.3 ล้านคน เผยแพร่ภาพเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กเล็กชั้นประถม แต่ละคนถือขวดน้ำดื่มพลาสติก ช่วยกันขึ้นดับไฟป่าบนภูเขา
“โทละโข่ง” เขียนบรรยายภาพชุดนี้สั้นๆ ว่า “ระมัดระวังด้วยนะหลานๆ! สามัคคีกันขึ้นไปดับไฟบนภูท้าว ภูนาง แขวงหลวงพระบาง”
จากนั้นเพจข่าวอีกหลายแห่งได้นำภาพชุดนี้เผยแพร่ต่อ เช่น Laonews ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.14 แสนคน เขียนคำบรรยายเป็นเชิงขอความเห็นจากผู้อ่านว่า “กรณีครูพานักเรียนขึ้นไปดับไฟป่าบนภูท้าว ภูนาง ด้วยขวดน้ำดื่ม และมีผู้มาแสดงความไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แล้วท่านล่ะ เห็นเช่นใด เหมาะสมหรือไม่”
เพจ “นาทีชีวิต” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.98 แสนคน เขียนบรรยายว่า “การเกณฑ์เอาน้องนักเรียนขึ้นไปดับไฟบนภูท้าว ภูนาง แขวงหลวงพระบาง ด้วยการเอาน้ำใส่ขวดน้ำดื่มไปดับ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย และมีความเสี่ยงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ หยุด และคิดพิจารณาให้ดี!!!”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีนี้ ซึ่งปรากฏในภาพชุดที่ถูกนำเสนอผ่านเพจต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการกระทำที่เสี่ยงมากต่อสวัสดิภาพของเด็ก เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กยังไม่มีความรู้ในการดับไฟ และอุปกรณ์ที่ใช้ดับมีเพียงขวดน้ำดื่มซึ่งไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่เห็นด้วยเพราะเป็นการให้ได้เด็กเรียนรู้และตระหนักถึงพิษภัยของไฟป่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมแนะนำว่าภาครัฐควรไปควบคุมการทำเกษตรกรรม การปลูกพืชไร่ หรือธุรกิจการเกษตรที่สนับสนุนให้เกษตรกรขึ้นไปใช้พื้นที่เพาะปลูกบนภูเขา ซึ่งมักใช้วิธีการเตรียมพื้นที่ด้วยการจุดไฟเผามากกว่า
วานนี้ (2 มี.ค.) นางจันดี เหยิ่งวือ รองเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาวประจำเมือง ประธานตรวจตราพรรค-รัฐ เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ได้ชี้แจงถึงกรณีนี้ผ่านทางรายการ “รอบบ้านผ่านเมือง” สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวืว่า ความจริงไฟป่าบนภูเขาในเมืองจอมเพ็ดได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ฝ่ายปกครองพื้นที่ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ รวมถึงประชาชนในเขตบ้านนาคำ บ้านเซียงแมน ขึ้นไปดับไฟได้หมด โดยไม่ได้ใช้กำลังของเด็กนักเรียนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าได้มีสะเก็ดไฟป่าปลิวไปตกกองใบไม้ภายในป่าไผ่ด้านข้างโรงเรียนบ้านเซียงแมน ซึ่งถ้าไม่รีบดับไฟในทันทีจะทำให้ไฟลามออกไปเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายมากขึ้น ครู อาจารย์ และนักเรียน โรงเรียนบ้านเซียงแมน จึงได้รีบช่วยกันตักน้ำไปดับไฟ ซึ่งใช้เวลาไม่นานสามารถดับไฟได้หมด
นางจันดี ยืนยันว่า การที่มีผู้นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ ว่าฝ่ายปกครองระดมเด็กนักเรียนไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ผู้ใช้สื่อออนไลน์ของลาวควรเสพข่าวอย่างมีสติ พิจารณาข่าวที่เห็นอย่างละเอียด สอบถามองค์กรปกครอง หรือท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง.