MGR ออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชากำลังจะเดินทางเยือนปักกิ่งในเร็วๆ นี้ เพื่อเจรจาขอกู้เงินมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชากับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่อยู่ติดชายแดนไทย
ข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นสัญลักษณ์ล่าสุดของมิตรภาพอันแข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ ที่ผู้สังเกตการณ์วิตกว่าการพึ่งพาจีนของกัมพูชาที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจนำไปสู่ ‘กับดักหนี้’ ที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว
“ผมหวังว่าการเยือนจีนที่กำลังจะมาถึงนี้จะทำให้เกิดโครงการใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเราจะต้องพึ่งเพื่อนจีนในการพัฒนากัมพูชา ที่รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย” ฮุนเซน กล่าว
ทั้งนี้ การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำเขมรมีกำหนดเริ่มในวันที่ 9 ก.พ.
ประกาศของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ระบุว่า บริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ได้ดำเนินการศึกษาเส้นทางรถไฟระยะทาง 382 กิโลเมตร ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว เส้นทางจะวิ่งจากกรุงพนมเปญไปปอยเปต ที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศ
มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งในขณะนี้กัมพูชามีหนี้ต่างประเทศอยู่เกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ โดย 41% เป็นหนี้จีน ตามที่ระบุในเอกสารของรัฐบาลที่กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเผยแพร่เมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน อาจทำให้ประเทศต่างๆ ติดกับดักของปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้
นักวิชาการด้านการเมืองและการพัฒนากัมพูชา จากโรงเรียนการจัดการนานาชาติธันเดอร์เบิร์ด มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา กล่าวว่า ‘การพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นความเสี่ยง เราต้องไม่ใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว กัมพูชาเป็นแบบนั้นและยังคงทำอยู่ การติดหนี้จีนเกือบ 50% ของหนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องดี’
“เป็นสิ่งที่มากเกินไป และเขา (ฮุนเซน) กำลังผูกอนาคตทางการเมืองของเขากับจีน เขาทำแบบนี้มาหลายปีแล้วและยังคงเดินหน้าทำอย่างเต็มที่ต่อไป” นักวิชาการ กล่าว
ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ เคยเตือนประเทศต่างๆ ไม่ให้ก่อหนี้ก้อนโตภายใต้ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน BRI ของจีน โดยวอชิงตันระบุว่า BRI เป็นกับดักหนี้ และอาจทำให้ประเทศต่างๆ สูญเสียการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกัน เช่น ศรีลังกาที่ติดกับดักเมื่อปักกิ่งเข้าควบคุมฐานเรือหลักของประเทศทดแทนการชำระหนี้
รัฐบาลของฮุนเซนโต้แย้งว่าการกู้ยืมยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าวว่า หนี้ต่างประเทศในปัจจุบันของกัมพูชาอยู่ที่ 9,470 ล้านดอลลาร์ (ราว 35% ของจีดีพีมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์) สามารถเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,620 ล้านดอลลาร์ได้ในปี 2566
รายงานของ Kiel Institute ในเยอรมนีเมื่อปี 2562 ประเมินว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่มีภาระหนี้มากเป็นอันดับ 6 จาก 50 ประเทศที่เป็นหนี้ภาครัฐและเอกชนของจีนเมื่อดูจากสัดส่วนของจีดีพี
จนถึงเดือน เม.ย.2562 ทางหลวง 31 สาย และสะพาน 8 แห่งในกัมพูชา ที่มีระยะทางรวมกันราว 3,000 กิโลเมตร เป็นโครงการที่จีนให้เงินสนับสนุนและก่อสร้าง ตามคำแถลงของสถานทูตจีนประจำกรุงพนมเปญ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าโครงการเหล่านี้ทำให้หนี้สินของประเทศพอกพูนเป็นเท่าใด และเมื่อไม่นานนี้ โครงการทางด่วนแบบเก็บค่าผ่านทางที่เพิ่งเปิดให้สัญจร ใช้เงินกู้จากรัฐบาลจีน 1,900 ล้านดอลลาร์ และว่าจ้างบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) เป็นผู้ก่อสร้างภายใต้สัญญาแบบ BOT.