xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีหลังรัฐประหารทำพม่าดิ่งสู่หายนะ UN ร้องกองทัพอยู่ใต้การควบคุมของพลเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกโรงเตือนว่า ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่า ประเทศกำลังจมดิ่งสู่หายนะ และเรียกร้องให้กองทัพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพลเรือน

นับตั้งแต่การรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทุกพื้นที่ของสิทธิมนุษยชนของพม่าถดถอยลงอย่างมาก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในคำแถลง

โวลเคอร์ เติร์ก ระบุว่า แม้จะมีภาระผูกพันทางกฎหมายอย่างชัดเจนสำหรับกองทัพในการปกป้องพลเรือนจากการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ แต่ก็ยังมีการเพิกเฉยต่อกฎที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศอยู่เสมอ

“ห่างไกลจากการไว้ชีวิต พลเรือนตกเป็นเป้าของการโจมตี เหยื่อของการระดมยิงด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศแบบกำหนดเป้าหมายและตามอำเภอใจ การวิสามัญฆาตกรรม การใช้การทรมาน และการเผาทั้งหมู่บ้าน” คำแถลงระบุ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 2,890 คน เสียชีวิตจากน้ำมือของทหารและพันธมิตรของพวกเขานับตั้งแต่การรัฐประหาร โดยอ้างจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และในจำนวนดังกล่าว มีอย่างน้อย 767 คน ถูกควบคุมตัวในตอนแรก

กองทัพยังจำคุกผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และคนอื่นๆ อีก 16,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนอีกราว 1.2 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนับตั้งแต่การรัฐประหาร ขณะที่มากกว่า 70,000 คน หลบหนีออกจากประเทศ

“ต้องมีทางออกจากสถานการณ์หายนะนี้ ที่เห็นแต่ความทุกข์ทรมานของมนุษย์และการละเมิดสิทธิที่รุนแรงขึ้น” เติร์ก กล่าว

เขาประณามว่ารัฐบาลทหารปฏิบัติต่อแผนที่ตกลงไว้กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีเป้าหมายจะยุติการนองเลือดและอนุญาตให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมอย่างดูหมิ่น

“ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนเกินควบคุมและการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมถูกจำกัดอย่างเข้มงวด” เติร์ก กล่าวเสริม และยืนยันว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการโจมตีพลเรือนรายวันและละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องรับผิดชอบ

“ทหารที่อ้างว่าปกป้องประเทศได้นำพาประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมมาสู่จุดที่น่าสิ้นหวังเช่นนี้ได้อย่างไร? กองทัพจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพลเรือนอย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น