xs
xsm
sm
md
lg

‘มินอ่องหล่าย’ แย้มวางแผนจัดเลือกตั้งช่วงปลายปี ร้องประชาชนให้การสนับสนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ผู้นำทหารที่ปกครองพม่าได้อภัยโทษผู้ต้องขังกว่า 7,000 คน รวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังทางการเมืองบางส่วน และยังเผยแผนสำหรับการเลือกตั้งในปลายปีนี้

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประชาชนในประเทศของเขาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคที่มีระเบียบวินัยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นแนวคิดที่กองทัพกำหนดไว้เป็นเป้าหมายนับตั้งแต่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564

การยึดอำนาจของกองทัพทำให้ความคืบหน้าในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เกือบทศวรรษของประเทศต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง หลังจากประเทศเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนาน 50 ปี

แผนสำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของกองทัพนั้นถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้การยึดอำนาจของกองทัพกลับสู่ภาวะปกติผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง และให้ผลลัพธ์ที่รับประกันว่าเหล่านายพลยังคงรักษาการควบคุม ทหารจะควบคุมกระบวนการทั้งหมดและใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาตัดกำลังฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสัญญาณว่าการอภัยโทษนักโทษ 7,012 คน พร้อมกับการลดโทษให้ผู้ต้องขังรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกตัดสินความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ครั้งนี้ รวมถึงซูจีด้วยหรือไม่ ซึ่งเธอถูกคุมขังตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ

ซูจีต้องรับโทษจำคุกนานถึง 33 ปี หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดในหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์กกี้-ทอล์กกี้อย่างผิดกฎหมาย ละเมิดข้อจำกัดมาตรการป้องกันโควิด-19 ละเมิดกฎหมายความลับทางการ การยุยงปลุกปั่น การโกงเลือกตั้ง และการทุจริต

ผู้สนับสนุนของเธอ และนักวิเคราะห์อิสระกล่าวว่าคดีความต่างๆ ที่ฟ้องร้องเธอเป็นความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงและสร้างความชอบธรรมให้การยึดอำนาจของกองทัพขณะเดียวกัน ก็กันเธอไม่ให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่กองทัพกล่าวว่าจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค.

ที่เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง ญาติผู้ต้องขังรวมตัวกันอยู่ที่หน้าประตูเรือนจำ พวกเขาต่างแสดงความยินดีและโผเข้าสวมกอดบุคคลอันเป็นที่รักที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ

เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้รับการปล่อยตัว ถิ่น ลิน อู อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของพรรคการเมืองของซูจี ที่ถูกจับตัวในเช้าวันที่กองทัพยึดอำนาจ และถูกตัดสินจำคุก 3 ปีในข้อหายุยงปลุกปั่นเมื่อเดือน ก.พ.2565 ตอบว่า สิ่งที่สำคัญคือเสรีภาพที่แท้จริง เขาไม่เพียงแค่ต้องการออกจากคุกเท่านั้น แต่ยังต้องการอิสรภาพสำหรับชีวิตของเขา ครอบครัวของเขา และคนรุ่นใหม่ทุกคน

ความเคลื่อนไหวแรกสู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริงอาจเกิดขึ้นในสิ้นเดือนนี้ เมื่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของกองทัพที่ขยายเวลาออกไป 6 เดือนครั้งล่าสุดจะสิ้นสุดลง

“เมื่อการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมจะจัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2551 และดำเนินการส่งมอบหน้าที่รัฐให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามมาตรฐานประชาธิปไตย” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว

กองทัพให้เหตุผลในการยึดอำนาจโดยอ้างว่ามีการโกงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งปี 2563 แม้ว่าผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอิสระจะไม่พบความผิดปกติสำคัญใดๆ ก็ตาม

ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีถูกทำลายลงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งตัวผู้นำและสมาชิกพรรคจำนวนมากถูกจำคุกหรือกำลังหลบซ่อนตัว การต่อต้านการเห็นต่างทุกรูปแบบถูกปราบปรามโดยกองกำลังความมั่นคง และบางครั้งใช้กำลังที่ส่งผลถึงชีวิต

พรรคของซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2563 ผลการเลือกตั้งที่ทำให้กองทัพดำเนินการโค่นล้มในปีถัดมา การกระทำของกองทัพดังกล่าวก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างสันติทั่วประเทศที่กองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปราม และนำไปสู่การต่อต้านด้วยอาวุธที่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบางคนมองว่าเป็นสงครามกลางเมือง

ประวัติศาสตร์ของพม่าก่อนการรัฐประหารในปี 2564 เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอาวุธเป็นเวลาหลายทศวรรษระหว่างรัฐบาลกลางและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่ต้องการการปกครองตนเองมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามพื้นที่ชายแดน

ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงลุกลามไปทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ย้ำว่า “การยุติการสู้รบภายในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและสันติภาพในชาติเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศของเรา และความพยายามอย่างหนักกำลังดำเนินการเพื่อไปยังจุดนั้น”

ทั้งนี้ การโค่นล้มรัฐบาลและการปราบปรามฝ่ายค้านอย่างดุเดือนของมิน อ่อง หล่าย ทำให้พม่ากลายเป็นรัฐโดดเดี่ยว และหลายประเทศกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อนายพลที่ปกครองประเทศ

“จะเห็นว่าบางองค์กรและบางประเทศเข้าแทรกแซงกิจการภายในของพม่า อย่างไรก็ตาม เราต้องตัดสินใจที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคง ขณะเดียวกัน ก็ยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศเพื่อปกป้องรักษาอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ” พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น