xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าขุด Rare Earth ในลาว สร้างโรงสกัดอีก 3 แห่งที่เชียงขวาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - บริษัทจากจีนยังคงเดินหน้าสำรวจขุดค้นหา Rare Earth ในลาว ล่าสุดปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพิ่งเปิดโรงงานสกัด 2 แห่ง ที่เมืองคูน กับเมืองผาไซ ในแขวงเชียงขวาง และกำลังสร้างโรงงานที่ 3 ในพื้นที่เดียวกัน

วานนี้ (8 ธ.ค.) ศูนย์ข่าวพลังงานและบ่อแร่ เผยแพร่ข่าว ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานสกัดแร่หายาก (Rare Earth) ของบริษัทกวางเจียนซินแสงสะหว่างขุดค้นแร่หายาก จำกัด ที่แขวงเชียงขวาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว

บริษัทแห่งนี้เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท BSL แสงสะหว่าง และบริษัทกวางเจียนซินอุตสาหกรรมและการค้า จากประเทศจีน ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว โดยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ให้สำรวจ ขุดค้น และสกัด Rare Earth ในพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร เขตบ้านนาห้อ บ้านสันหลวง บ้านแก่วกว้าง บ้านหนอง และบ้านผาผึ้ง ในเมืองคูน และเมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564

ปัจจุบัน บริษัทได้สร้างโรงงานสกัด Rare Earth ขึ้นมาแล้ว 3 แห่ง ในพื้นที่ทดลอง 5.8 ตารางกิโลเมตร ในเมืองคูน และเมืองผาไซ โดย 2 โรงงานแรกสร้างเสร็จและทำพิธีเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนโรงงานแห่งที่ 3 กำลังเริ่มการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

พิธีเปิดโรงงานสกัด Rare Earth ของบริษัทกวางเจียนซินแสงสะหว่างขุดค้นแร่หายาก ที่แขวงเชียงขวาง โดยมีดาววง พอนแก้ว (คนกลาง) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เดินทางไปเป็นประธาน
ในพิธีเปิดโรงงานสกัด 2 แห่งแรก ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร กล่าวว่า โครงการสำรวจ ขุดค้น และสกัด Rare Earth ถือว่ามีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของลาว และถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) ในแขนงการพัฒนาด้านพลังงานและบ่อแร่

Rare Earth เป็นกลุ่มสินแร่โลหะ 17 ชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน ต้องอาศัยการสกัดด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งการสกัดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมสกัด Rare Earth มีต้นทุนสูง Rare Earth จึงเป็นเสมือนแร่ที่หายาก

ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่ผลิต Rare Earth ได้มากที่สุดในโลก รองลงมาเป็นออสเตรเลีย รัสเซีย และบราซิล

Rare Earth ที่สกัดได้จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงหลากหลายประเภท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่สายใยแก้วนำแสง ไปจนถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทีวีจอแบน อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์พกพา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายชนิด ทำให้ Rare Earth จึงเป็นสินแร่ที่บทบาทสูงมากสำหรับหลายธุรกิจ

ภายในโรงงานของบริษัทกวางเจียนซินแสงสะหว่างขุดค้นแร่หายาก
แขวงเชียงขวางของลาวเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีบริษัทจากจีนหลายแห่งได้เข้ามาขอสัมปทานสำรวจ ขุดค้น Rare Earth โดยมีบางบริษัทที่ได้เริ่มกระบวนการสกัดแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้ให้สัมปทานสำรวจ ขุดค้น และสกัด Rare Earth แก่บริษัทบริษัทซุนต้าพัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่งพัฒนาบ่อแร่ บนพื้นที่รวม 118.16 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านปุง บ้านนาขี่ บ้านมาย และบ้านนาสาบ เมืองผาไซ โดยได้มีการเปิดหน้าดินเจาะหลุมสำรวจและขุดค้นแล้ว 30 หลุม

ทั้งบริษัทบริษัทซุนต้าพัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่งพัฒนาบ่อแร่ ได้ทำสัญญาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจพัฒนาแร่ธาตุลาว ของรัฐบาลลาวด้วย

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้นำคณะไปดูงานของบริษัทบริษัทซุนต้าพัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่งพัฒนาบ่อแร่ ที่เมืองผาไซ และได้กล่าวว่าโครงการของทั้ง 2 บริษัทถือเป็นโครงการแรกในการสำรวจ ขุดค้น และสกัด Rare Earth ในลาว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาแร่ธาตุลาว เป็นตัวแทนเข้าถือหุ้นในโครงการนี้

รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ บอกว่า ที่ผ่านมาลาวยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรม Rare Earth โครงการของ 2 บริษัทนี้จึงเป็นการช่วยสร้างและพัฒนาบุคลากรลาวให้มีความรู้ ความเข้าใจขั้นตอนการสำรวจ ขุดค้น และสกัด Rare Earth และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Rare Earth ของลาวได้เองในอนาคต.



ภาพมุมสูงโครงการขุดค้น Rare Earth ของบริษัทบริษัทซุนต้าพัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่งพัฒนาบ่อแร่ ในเมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง


กำลังโหลดความคิดเห็น