MGR Online - ทูตไทยประจำพม่าคนใหม่เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก่อนหารือต่อกับ พล.อ.อาวุโส โซวิน รองประธานสภาบริหารแห่งรัฐ เรื่องการฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือน้ำลึกทวาย
วานนี้ (7 ธ.ค.) เวลา 10.00 น.นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ ได้เข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พม่า ที่กรุงเนปีดอ เพื่อยื่นพระราชสาสน์ตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าคนใหม่ ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการพูดคุยกันถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและพม่า ตลอดจนความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น การค้า การลงทุน การเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ
ตัวแทนรัฐบาลพม่าที่มาร่วมสนทนากับเอกอัครราชทูตไทย นอกจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย แล้ว ยังมี พล.อ.อาวุโส โซวิน รองประธาน SAC และอู หวุ่ณณะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาในตอนบ่ายวันเดียวกัน นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ ได้เข้าพบเพื่อหารือข้อราชการกับ พล.อ.อาวุโส โซวิน รองประธาน SAC เป็นการเฉพาะ โดย Popular News Journal สื่อของพม่า มีรายงานว่า หัวข้อที่ทั้ง 2 ฝ่ายหารือกัน เป็นเรื่องสถานการณ์ชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งหลายจุดมีการขนส่งสินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างกันในปริมาณที่มาก ตลอดจนมีการลักลอบข้ามชายแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของแรงงานจากฝั่งพม่า ที่สำคัญ Popular News Journal ระบุชัดเจนว่า รองประธาน SAC ได้หารือกับเอกอัครราชทูตไทยคนใหม่ถึงแนวทางการฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในภาคตะนาวศรี ตรงข้ามกับจังหวัดกาญจนบุรีของไทย อย่างไรก็ตาม เนื้อข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไปมากกว่านี้
โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทานแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) จากประเทศไทยเป็นผู้พัฒนาตั้งแต่ปลายปี 2553 แต่หลายปีที่ผ่านมา กลับไม่มีความคืบหน้า เนื่องจาก ITD มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการ
จากเหตุผลข้างต้น ทำให้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 รัฐบาลของพรรค NLD โดยคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้ประกาศยกเลิกสัมปทานโครงการนี้ที่เคยให้ไว้กับ ITD จากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้นำกำลังออกมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD
หลังรัฐประหาร พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการรื้อฟื้นโครงการทวายขึ้นมาใหม่ โดยในการประชุมคณะกรรมการสภาบริหารแห่งรัฐ ครั้งที่ 17/2021 ที่กรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวว่าต้องการเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จ เพราะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่เขาไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าจะเดินหน้าอย่างไร
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เดินทางไปภาคตะนาวศรี เพื่อดูพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และไปยังชายหาดในเขตนะบูแล ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองทวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 17 ไมล์ หรือประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งถูกเตรียมไว้สำหรับก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย
อู อ่องไหน่อู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอู อ่องโซ ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้รายงานต่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย โดยบอกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และความล่าช้าของโครงการ
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ยืนยันอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการรับฟังรายงานว่า จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายให้เสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุว่านักลงทุนกลุ่มใด หรือจากประเทศใดที่จะเป็นผู้ลงทุนหลักของเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่โครงการนี้
สำหรับนายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่าคนใหม่ หลังจากตำแหน่งนี้ถูกทิ้งว่างมานานกว่า 8 เดือน โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่าคนก่อนหน้านี้ คือ นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2565 และย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ก่อนมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า นายมงคล เป็นกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน.