xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”ขอบคุณคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพเวทีเอเปกที่ดี ได้รับคำชื่นชมสู่สายตาชาวโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

วันนี้ (19 พ.ย.65) เป็นวันสุดท้ายของภารกิจอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ พระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จออกทรงรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมคู่สมรส และแขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อค่ำวานนี้ (18 พ.ย.65) นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติ แก่คณะผู้เข้าร่วมประชุม และปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

โดยผมเอง ในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็ยังได้มีโอกาสพิเศษในประชุมหารือกับผู้นำหลายประเทศและองค์กรระดับโลกตลอดทั้งวัน ดังนี้

08.00 น. การประชุมหารือทวิภาคี กับนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย

08.30 น. การประชุมหารือทวิภาคี กับนางสาวจาชินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

08.40 น. การประชุมหารือทวิภาคี กับนางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF)

และเวลา 09.15 น. ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด โดยผมได้เป็นประธานการประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (Retreat ช่วงที่ 2) ภายใต้หัวข้อ "Sustainable Trade and Investment การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” ที่นำมาสู่การรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ.2022 ที่มีแนวคิด BCG หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio-Economy) “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) และ “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) เป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญ ในขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ประการ คือ

1. “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” : สมาชิกเอเปคเห็นพ้องที่จะเดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มีการจัดทำแผนงานต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อยอดอย่างมากมายทั้งต่อประเทศไทยและทุกเขตเศรษฐกิจเอเปค

2. “เชื่อมโยงกัน” : สมาชิกเอเปคจะร่วมกันฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ เพื่อการติดต่อ ไปมาหาสู่กันด้วยความสะดวกและมั่นใจ และจับมือกันสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต ด้วยบทเรียนจากการจัดการวิกฤตที่ผ่านมา

3. “สู่สมดุล” : ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” (Bangkok Goals) เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ตามหลักการ BCG ที่จะนำไปแปลงให้เป็นนโยบายภาคปฏิบัติที่ส่งผลเป็นรูปธรรมทั่วโลก ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย

ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ผมได้เป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ ส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า ด้วย “ชะลอม” พร้อมพวงมาลัย ที่เป็นสัญลักษณ์ของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ ให้แก่รองประธานาธิบดี กมลา แฮริส จากสหรัฐอเมริกา ได้สานต่อภารกิจสร้างความยั่งยืน ตาม "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG" ต่อไป

นอกจากนั้น อีกภารกิจสำคัญของผมในช่วงเที่ยงวันนี้ คือ พิธีต้อนรับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ณ ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งได้มีการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะอีกด้วย

ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเรียนแจ้งให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านได้ทราบว่า การประชุมในกรอบเอเปค ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ที่มีการประชุมนับร้อยเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้จบลงด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนเป็นอย่างมาก ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด ทั้งในระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกลุ่มผู้แทนเยาวชน APEC Voices of the Future 2022 สำหรับความสำเร็จในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้น ผมต้องขอขอบคุณ "ทีมประเทศไทย" ทุกคน ทุกฝ่าย ที่ทำให้เราสามารถจัดการประชุมแบบพบหน้าได้อย่างปลอดภัย สำเร็จสมดังความตั้งใจ และสามารถนำเสนอความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลกได้อย่างน่าประทับใจ ได้รับความชื่นชมในทุกๆ กิจกรรมที่เราตั้งใจสรรค์สร้าง แม้จะมีความท้าทายหลายประการในการเตรียมการ ต้องถือว่าทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้ทำภารกิจเพื่อชาติ เพื่อคนไทยทั้งประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี และน่าภาคภูมิใจ และท้ายที่สุดนี้ ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง กับการร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนครั้งสำคัญนี้ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ทั้งหมดที่เราทำลงไปจะไม่สูญเปล่า แต่กลับจะสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็นคุณประโยชน์อย่างทวีคูณ กลับมาสู่ประเทศไทยและคนไทยในอนาคตอันใกล้ที่จะตามมาอย่างแน่นอนครับ