รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มการประชุมที่กรุงจาการ์ตาวันนี้ (27) เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีที่จะเริ่มกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักในพม่า ที่มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากความรุนแรงทวีความรุนแรงขึ้น
การประชุมที่สำนักเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย จะไม่มีผู้แทนจากพม่าเข้าร่วม
นายพลพม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกองทัพได้ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี ควบคุมตัวเธอและนักเคลื่อนไหวหลายพันคน และดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงที่ก่อให้เกิดขบวนการต่อต้านด้วยอาวุธ
เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในพม่าหลายหน ที่รวมถึงการระเบิดเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และการโจมตีทางอากาศในรัฐกะฉิ่นเมื่อวันอาทิตย์ ที่สื่อท้องถิ่นระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน
กัมพูชาที่เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเสนอแนะวิธีการที่จะผลักดันกระบวนการสันติภาพก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่มในเดือนหน้า
พม่าได้รับเชิญให้ส่งผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองเข้าร่วมการประชุมในอินโดนีเซีย แต่รัฐบาลทหารไม่เห็นด้วย รัฐบาลประเทศเจ้าภาพระบุ
อาเซียนเป็นผู้นำความพยายามระหว่างประเทศที่จะสร้างสันติภาพในพม่า แต่รัฐบาลทหารดำเนินการตามคำมั่นต่อแผนสันติภาพที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มเมื่อปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ฉันทมติ 5 ข้อ ยังรวมถึงการยุติความรุนแรงในทันทีและการเริ่มการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ตลอดจนอนุญาตให้ผู้แทนของประธานอาเซียนอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยและให้อาเซียนจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โฆษกของรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็นวันนี้ แต่ผู้นำคณะรัฐบาลทหารเคยกล่าวโทษถึงการขาดความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนว่าเป็นเพราะความไม่มั่นคงในประเทศและความท้าทายของโรคระบาด
แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องการประชุมกล่าวว่าอินโดนีเซียพยายามที่จะกระชับฉันทมติ 5 ข้อ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่าคาดหวังอะไรในแต่ละด้าน และมอบอำนาจหน้าที่ให้ผู้แทนพิเศษ
นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุว่ายังมีความสนใจในสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่ต้องการการเจรจาอย่างเงียบๆ กับรัฐบาลทหาร
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า เขาไม่ทราบเนื้อหาของการหารือ
ทั้งนี้ อาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการอธิปไตยของสมาชิกมาอย่างยาวนาน แต่บางประเทศได้เรียกร้องให้กลุ่มมีความกล้ามากขึ้นในการดำเนินการกับรัฐบาลทหาร.