MGR Online - ผู้อำนวยการโครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติลาว คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาอีก 24 ปี จึงจะสามารถเก็บกู้ระเบิดตกค้างที่สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินมาทิ้งในลาวระหว่างสงครามอินโดจีนได้หมดประเทศ
วันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา แคทเธอรีน เฟือง รองหัวหน้า สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำ สปป.ลาว ได้ไปเยี่ยมชมปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดตกค้างตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน ในพื้นที่บ้านเตาปูน เมืองสาละวัน แขวงสาละวัน ร่วมกับ ปะเดิมพอน สนทะนี รองรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานะรองประธานผู้ประจำการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้างในลาว และ สมใจ อุ่นจิด รองเจ้าแขวงสาละวัน
เสามะนี มะนีวง รักษาการผู้อำนวยการ โครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานภาพรวมของการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดตกค้างอยู่ใน 9 แขวง ได้แก่ หลวงพระบาง หัวพัน เชียงขวาง คำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะปือ โดยแต่ละแขวงล้วนมีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดประจำอยู่
ที่ผ่านมา โครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติได้มีการกำหนดพื้นที่อันตรายหรือบ้านอันตราย ซึ่งมีระเบิดตกค้างที่จำเป็นต้องเก็บกู้ ครอบคลุมพื้นที่ 154,000 เฮกตาร์ หรือ 962,500 ไร่ ผลการปฏิบัติงานถึงปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 สามารถสำรวจและเก็บกู้ระเบิดได้แล้วประมาณ 20,000 เฮกตาร์ หรือ 125,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 13% ยังเหลือพื้นที่ซึ่งต้องสำรวจและเก็บกู้อีกกว่า 133,000 เฮกตาร์ หรือ 831,250 ไร่
รักษาการผู้อำนวยการ โครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติ กล่าวว่า พื้นที่บ้านอันตรายที่เหลืออยู่คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 24 ปี จึงจะสำรวจและเก็บกู้ระเบิดได้หมด
สำหรับบทบาทของหน่วยงานโครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติที่ประจำอยู่ในแต่ละแขวง นอกจากปฏิบัติการสำรวจและเก็บกู้ระเบิดแล้ว ยังต้องประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้ถึงอันตรายและผลร้ายของระเบิดตกค้าง เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็กต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ช่วงสงครามอินโดจีน ระหว่างปี พ.ศ.2507-2516 ลาวเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดลงมาหนักที่สุดในโลกเมื่อเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร
มีการเก็บสถิติว่า สหรัฐอเมริกาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ดินแดนของลาวถึง 580,000 เที่ยว มีการทิ้งระเบิด 1 เที่ยว เฉลี่ยทุก 8 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 9 ปี
ในเชิงปริมาณ พบว่าน้ำหนักของระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาในลาวนั้นมีมากกว่า 2 ล้านตัน ขณะที่จำนวนประชากรลาวในช่วงสงครามมีอยู่เพียง 1 ล้านคน ระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาส่วนใหญ่เป็นระเบิดลูกหว่าน (Cluster Bomb) มากกว่า 270 ล้านลูก และคาดว่ายังมีระเบิดอีกประมาณ 80 ล้านลูก หรือ 30% ที่ยังไม่ระเบิดและยังคงคงตกค้างอยู่ในดินแดนลาว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 87,000 ตารางกิโลเมตร เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของลาวมาจนถึงทุกวันนี้.