xs
xsm
sm
md
lg

ส่งสินค้า “ฉงชิ่ง-มัณฑะเลย์” 15 วัน จีนเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่ออกจากนครฉงชิ่ง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม มีกำหนดถึงมัณฑะเลย์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565
MGR Online - ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ยังคงเดินหน้า ล่าสุดใช้รูปแบบผสมผสาน “ราง-รถ-เรือ” ขนส่งรถยนต์-อะไหล่-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 60 ตู้ จากฉงชิ่ง ลงมามัณฑะเลย์ ลดเวลาเดินทางจาก 20 วัน เหลือ 15 วัน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าซึ่งบรรทุกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และอะไหล่ เต็ม 60 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้ออกเดินทางจากศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ นครฉงชิ่ง ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีปลายทางลงมายังเมืองมัณฑะเลย์ ของพม่า โดยมีกำหนดถึงมัณฑะเลย์ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้

รถไฟขบวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งสินค้ารูปแบบผสมผสาน “ราง-รถ-เรือ” ที่จีนได้นำมาใช้กับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า” ที่เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

รถไฟจากนครฉงชิ่งขบวนนี้จะมาสิ้นสุดที่จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน จากนั้นสินค้าทั้งหมดจะถูกลำเลียงต่อโดยรถบรรทุกเข้าไปในพม่าทางภาคเหนือของรัฐชาน ซึ่งมี 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ช่องทางหมู่เจ้ ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง กับช่องทางชิงส่วยเหอ เขตปกครองตนเองโกก้าง ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง เมื่อเข้ามาในพม่า สินค้าจะถูกขนส่งลงมาตามทางหลวงหมายเลข 3 “ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์”

ศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ นครฉงชิ่ง
สถานทูตจีนประจำพม่า มีรายงานเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่า การขนส่งสินค้ารูปแบบผสมผสาน “ราง-รถ-เรือ” ที่นำมาใช้ครั้งนี้จะช่วยร่นเวลาเดินทางลงได้ประมาณ 20% จากเดิมที่เคยใช้รถบรรทุกขนสินค้าจากนครฉงชิ่งมายังมัณฑะเลย์ ต้องเดินทาง 20 วัน แต่เมื่อปรับมาใช้รูปแบบผสมผสาน เวลาเดินทางจะลดลงมาเหลือเพียง 15 วัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน จีนได้เริ่มการขนส่งผสมผสานตามระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-พม่า” โดยใช้เส้นทางผ่านลาวและไทย โดยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าซึ่งภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเต็มไปด้วยอะไหล่รถจักรยานยนต์ ได้ออกเดินทางจากนครฉงชิ่ง ผ่านนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มีปลายทางแรกที่สถานีบ่อหาน ชายแดนจีน-ลาว ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน

จากบ่อหาน ขบวนรถวิ่งลงมาตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน อีก 1 วัน โดยมีปลายทางที่สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ นครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางรถบรรทุกผ่านประเทศไทย ข้ามเข้าพม่า เพื่อไปลงเรือออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ที่ท่าเรือในกรุงย่างกุ้ง

เส้นทางขนส่งผสมผสาน จากนครฉงชิ่ง-หลินชาง-มัณฑะเลย์
จีนเปิดตัว “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า” เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยใช้วิธีนำรถบรรทุกไปรับสินค้าจากเรือสินค้าในมหาสมุทรอินเดีย ที่มาขึ้นบกยังท่าเรือกรุงย่างกุ้ง จากนั้นขนส่งขึ้นมายังภาคเหนือของรัฐชาน ข้ามชายแดนที่ช่องทางชิงส่วยเหอ เพื่อไปถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหลินชาง และขนต่อขึ้นไปยังนครฉงชิ่ง

จีนมีเป้าหมายจะใช้ทางรถไฟ “นครฉงชิ่ง-หลินชาง” เป็นเส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ซึ่งจะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน โดยจีนมีโครงการสร้างทางรถไฟจากเมืองหมู่เจ้ ชายแดนรัฐชาน ผ่านกรุงมัณฑะเลย์ มีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ในรัฐยะไข่ แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในพม่า ทำให้ทางรถไฟสายนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง.




กำลังโหลดความคิดเห็น