MGR Online - คนพม่ายอมอยู่บ้านร่วมประท้วงเงียบกับ PDF เพียงวันเดียว สงกรานต์ที่เหลือ 2 วัน หลายเมืองทั่วพม่า ผู้คนพากันออกมาเล่นน้ำกันอย่างสุดเหวี่ยง เมืองชายทะเล กับเมืองที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติคึกคักสุด
เทศกาล “ตะจาน” หรือสงกรานต์ในพม่า ที่อาจดูเงียบเหงาไปบ้างในวันแรก (13 เม.ย.) เพราะกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (PDF) โหมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมประท้วงเงียบ ห้ามออกจากบ้านไปร่วมกิจกรรมหรือเล่นน้ำสงกรานต์ยังเวทีกลางที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หรือสภาทหารจัดเตรียมไว้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงย่างกุ้ง หรือมัณฑะเลย์
ในวันที่ 13 เมษายน นอกจากรัฐยะไข่ที่สวนทางกับ PDF มีการจัดฉลองสงกรานต์และประชาชนได้ออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานตามที่เสนอข่าวไปเมื่อวันที่ 14 เมษายนแล้วนั้น ปรากฏว่า Eleven Media Group รายงานว่าในภาคมัณฑะเลย์ ประชาชนหลายครอบครัวต่างพาลูกหลานไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น ไปชมโบราณสถานในเมืองพุกาม หรือไปดูวิวทะเลสาบต่องตะมาน ที่สะพานอูเปง สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดของพม่า ในเมืองอมรปุระ
Popular News Journal มีรายงานว่าส่วนหนึ่งของประชาชนที่ไม่ต้องการอยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉพาะในย่างกุ้ง เพราะกังวลว่าอาจเกิดเหตุร้ายขึ้นในวันสงกรานต์ ได้พาครอบครัวเดินทางออกนอกเมือง ส่วนหนึ่งไปเที่ยวยังชายหาดชองตา กับชายหาดหง่วยส่อง ในภาคอิรวดี บางส่วนไปภาคตะนาวศรี เช่าเรือสปีดโบ๊ตที่ท่าเรือเกาะสอง เพื่อไปเที่ยวเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามันที่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยว หลังต้องปิดเป็นเวลานานจากการระบาดของโควิด-19
ที่เมืองเชียงตุง รัฐชานตะวันออก คณะกรรมการเมืองเชียงตุงได้ฟื้นประเพณีแก๋นกอง หรือแขวนกลอง ประเพณีเก่าแก่ที่จัดต่อเนื่องกันมานานกว่า 600 ปี แต่ต้องหยุดไปชั่วคราว 2 ปี หลังเกิดโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563 โดยตอนเช้าวันที่ 13 เมษายน ได้มีพิธีแห่ขุนสังขานต์ไปยังลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้ามหาขนาน ด้านหน้าวัดเชียงจันทน์ จากนั้นเวลา 13.00 น.เริ่มการตีกลองสะบัดชัยต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ถวายขุนสังขานต์
ตอนบ่ายของวันที่ 14 เมษายน หลังตีกลองครบ 24 ชั่วโมงแล้ว มีพิธีแห่กลองและขุนสังขานต์ไปทำพิธีกันที่ริมแม่น้ำขืน ประชาชนที่มาร่วมงานพากันลงเล่นในแม่น้ำขืนกันเป็นที่สนุกสนาน
PDF จัดรณรงค์ “อะตานเต็ก ตะเป็ก” หรือการประท้วงด้วยความเงียบ ห้ามประชาชนทั่วประเทศออกจากบ้านไปเล่นน้ำหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ตลอด 3 วันของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ แต่ชาวพม่าทั้งหมดเชื่อฟัง PDF เพียงวันที่ 13 เมษายนวันเดียว จากนั้นในวันที่ 14 และ 15 เมษายน หลายพื้นที่มีชาวบ้านออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ที่เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชานตะวันออก ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย Tachileik News Agency รายงานว่า ตั้งแต่เช้าวันที่ 14 เมษายน หลายบ้านต่างนำภาชนะใส่น้ำเต็ม ดักคอยสาดผู้ที่สัญจรผ่าน ขณะที่อีกหลายคนนำภาชนะบรรจุน้ำบรรทุกไว้กระบะหลังรถกระบะ ตระเวนเล่นน้ำตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง การเล่นน้ำในเมืองท่าขี้เหล็ก ยังคงมีต่อเนื่องมาถึงในวันรุ่งขึ้น (15 เม.ย.)
สำนักข่าว Shan News รายงานว่า ในเมืองอื่นของรัฐชาน โดยเฉพาะเมืองที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ผู้คนต่างพากันออกมาเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านั้น โดยที่เมืองสีป้อ จังหวัดจ๊อกแม ชาวเมืองพากันออกมาเล่นน้ำในลำน้ำดุฬะวดีกันอย่างสนุกสนาน ส่วนที่เมืองสู้ จังหวัดดอยแหลม รัฐชานใต้ ชาวเมืองพากันไปเที่ยวน้ำตกฮายป๋า ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดของรัฐชาน จนทางเข้าน้ำตกที่เป็นเพียงถนนลูกรังเล็กๆ รถติดยาวเหยียด
The Voice of Shan-Ni เพจข่าวของชาวไตแดง ที่อยู่ในภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น รายงานว่า ในวันที่ 15 เมษายน ชาวไตแดงที่อาศัยอยู่ในบ้านกาดแก้ว เมืองเวียงใหม่ (อำเภอวายหม่อ) จังหวัดมิตจีน่า ได้จัดประเพณีสงกรานต์ขึ้น โดยชาวไตแดงแต่งชุดประจำชาติ จัดการแสดงบนเวที จากนั้นทุกคนได้ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างครึกครื้น
ในวันเดียวกัน Mandalay Free Press เผยแพร่ภาพม่านน้ำซึ่งสร้างขึ้นใกล้กับเวทีกลางที่ SAC สร้างขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อจัดพิธีเริ่มต้นเทศกาลสงกรานต์เมื่อวันที่ 13 เมษายน ซึ่งในวันดังกล่าว ประชาชนชาวมัณฑะเลย์ส่วนหนึ่งยอมปฏิบัติตาม PDF ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับ SAC แต่ปรากฏว่าถัดมาเพียง 2 วัน ชาวมัณฑะเลย์จำนวนมากพากันออกมาเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณม่านน้ำกันอย่างหนาแน่น
เช่นเดียวกับที่เมืองพะสิม เมืองเอกของภาคอิรวดี ซึ่ง Ayeyarwaddy Times รายงานว่าวันที่ 15 เมษายน ชาวพะสิมจำนวนมากต่างออกมาเล่นน้ำกันในบริเวณเวทีกลางที่สร้างขึ้นโดย SAC อย่างครึกครื้น หลังจาก 2 วันที่แล้ว ทุกคนยอมอยู่บ้านไม่ออกมาร่วมกิจกรรมตามการรณรงค์ของ PDF ในวันที่ 13 เมษายน.