xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมนไรท์ซัดยอมรับไม่ได้กรณีทูตออสเตรเลียหารือ ‘มินอ่องหล่าย’ ยกระดับความร่วมมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวประณามการพบหารือระหว่างเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำพม่า และหัวหน้าคณะรัฐบาลทหาร โดยกล่าวว่าเป็นการให้ความน่าเชื่อถือแก่รัฐบาลทหารที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม

นับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีเมื่อปีก่อน พม่าก็ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นในระดับนานาชาติ โดยรัฐบาลต่างชาติได้เรียกร้องให้ยุติการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน

แอนเดรีย ฟอล์กเนอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียที่กำลังจะหมดวาระ ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารในกรุงเนปีดอเมื่อวันพุธ (6) โดยหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของทางการรายงานว่า ทั้งคู่ได้หารือกันถึงการยกระดับความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ และรายงานยังระบุว่า เอกอัครราชทูตเดินทางมาพร้อมกับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร

แคทรินา คูเปอร์ จากกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวว่าเอกอัครราชทูตได้ใช้การประชุมดังกล่าวย้ำข้อเรียกร้องต่อพม่าให้ยุติความรุนแรงและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง

“รัฐบาลออสเตรเลียไม่ถือว่าการพบหารือของเอกอัครราชทูตที่กำลังจะหมดวาระเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน” คูเปอร์กล่าวต่อคณะกรรมการวุฒิสภาในกรุงแคนเบอร์รา

แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การพบหารือและรายงานข่าวที่เกิดขึ้นตามมาในสื่อของรัฐไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“การประชุมนี้ไม่เพียงแต่ไม่สามารถยอมรับได้เท่านั้น แต่ยังทำลายความพยายามของรัฐบาลอื่นๆ ในการโดดเดี่ยวผู้บัญชาการทหารที่เกี่ยวพันกับการละเมิดอย่างร้ายแรง” แมนนี หม่อง นักวิจัยพม่าของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

“จากการถ่ายภาพร่วมกันและรับของขวัญ ออสเตรเลียทำหน้าที่เพียงแค่ให้ความน่าเชื่อถือแก่รัฐบาลทหารที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อประชากรของตนเอง” แมนนี หม่อง กล่าวเสริม

หม่องเรียกร้องให้ออสเตรเลียดำเนินการตามพันธมิตรดั้งเดิมของตนด้วยการหลีกเลี่ยงการประชุมระดับสูงกับรัฐบาลทหาร และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทันที

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียระบุว่า มีการประชุมและโทรศัพท์กับรัฐบาลทหารอีก 7 ครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหาร โดยแคนเบอร์ราเรียกร้องหลายครั้งให้ทางการพม่าปล่อยตัว ฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้ซูจี เมื่อเขาถูกควบคุมตัวไม่นานหลังการรัฐประหาร

เขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางการของพม่า และอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี หากพบว่ามีความผิดจริง

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,700 คน ในการปราบปรามผู้เห็นต่าง ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น.


กำลังโหลดความคิดเห็น