xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นประณามสังหารหมู่ในพม่า ชี้กองทัพก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติกล่าวประณามการสังหารหมู่ในพม่า และกล่าวหากองทัพว่าอาจก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาตินับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปีก่อน

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการในทันทีเพื่อยุติความรุนแรงที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพม่า

กองทัพพม่ายึดอำนาจและขับไล่รัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปีก่อน และจับกุมอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า นับจากนั้นรัฐบาลทหารได้ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด

ในรายงานที่ครอบคลุมช่วงเวลานับตั้งแต่การยึดอำนาจ สำนักงานของมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า กองทัพและกองกำลังความมั่นคงของพม่าได้แสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์อย่างชัดแจ้ง

รายงานยังอธิบายว่ากองทัพกระหน่ำโจมตีพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ด้วยการโจมตีทางอากาศและอาวุธหนัก และมุ่งเป้าโจมตีพลเรือนอย่างจงใจ ที่หลายคนถูกยิงที่ศีรษะ ถูกเผาจนตาย ถูกจับกุมโดยพลการ ถูกทรมาน หรือถูกใช้เป็นโล่มนุษย์

“เราสามารถระบุรูปแบบได้ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ชี้ว่านี่เป็นการโจมตีที่มีการวางแผน ประสานงาน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้เทียบเท่ากับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” โฆษกสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวกับนักข่าวในเจนีวา

รายงานยังระบุว่า มีประชาชนถูกกองกำลังความมั่นคงและแนวร่วมของพวกเขาสังหารอย่างน้อย 1,600 คน และมีผู้ถูกควบคุมตัวมากกว่า 12,500 คน

นอกจากนั้น ยังมีผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 440,000 คน และอีก 14 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน แต่การจัดส่งความช่วยเหลือถูกกองทัพขัดขวางในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือใหม่และที่มีอยู่ก่อนแล้ว รายงานระบุ

“เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการดำเนินการที่มีความหมายโดยประชาคมระหว่างประเทศเพื่อยับยั้งไม่ให้บุคคลจำนวนมากถูกลิดรอนสิทธิ ชีวิต และความเป็นอยู่ของพวกเขา ขนาดของการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่น่าตกใจที่ชาวพม่าเผชิญอยู่นั้นต้องการการตอบสนองระหว่างประเทศที่แน่วแน่ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว” บาเชเลต์ กล่าว

รายงานถูกเผยแพร่สำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 49 ที่จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 เม.ย. และบาเชเลต์มีกำหนดเสนอรายงานต่อคณะมนตรีในวันที่ 21 มี.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น