MGR Online - จีนเปิดใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางรางสายใหม่ผ่านโครงข่ายรถไฟลาว-จีน ต้นทางจากนครฉงชิ่ง ผ่านลาว ไทย เพื่อไปออกสู่ทะเลที่กรุงย่างกุ้ง ประเดิมสินค้าล็อตแรกอะไหล่รถจักรยานยนต์ ที่เริ่มออกเดินทางแล้วเมื่อวันเสาร์ (2 เม.ย.)
เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าซึ่งภายในตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุเต็มไปด้วยอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากโรงงานในนครฉงชิ่ง ทางตะวันเฉียงใต้ของจีน เริ่มออกเดินทางจากศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศฉงชิ่ง
ข่าวที่เผยแพร่ผ่านสถานทูตจีน ประจำกรุงย่างกุ้ง เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) ระบุว่า รถไฟขบวนดังกล่าวเป็นขบวนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบผสมผสาน ที่ใช้เส้นทางทั้งบนบกและทางทะเล โดยมีต้นทางจากนครฉงชิ่ง ผ่านประเทศลาว ประเทศไทย เพื่อไปออกสู่ทะเลที่กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
จากนครฉงชิ่ง รถไฟขบวนนี้จะวิ่งมายังสถานีบ่อหาน ชายแดนจีน-ลาว ซึ่งคาดว่าใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 5 วัน จากนั้นเข้าสู่เส้นทางรถไฟลาว-จีน ลงมายังสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ใช้เวลาอีก 1 วัน ก่อนส่งผ่านประเทศไทย โดยมีปลายทางไปออกยังมหาสมุทรอินเดีย ที่กรุงย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม เนื้อข่าวของสถานทูตจีน ประจำกรุงย่างกุ้ง ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเส้นทางที่สินค้าล็อตนี้จะส่งผ่านประเทศไทยนั้น เป็นเส้นทางใด
นครฉงชิ่ง เป็นศูนย์กลางคมนาคมและขนส่งสินค้าทางรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยจีนมีแผนใช้ศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งนี้ สำหรับกระจายสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางหลายแห่งในเอเชีย
ปีที่แล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 หลังมีพิธีเปิดใช้รถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ (3 ธ.ค.) เพียงวันเดียว ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว เชื่อมระหว่างนครฉงชิ่งกับนครหลวงเวียงจันทน์ก็เริ่มวิ่งให้บริการ
วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ก่อนเปิดเดินรถไฟสินค้าจีน-ลาว-ไทย-พม่า เพียง 1 สัปดาห์ เพิ่งมีการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนาม โดยขบวนรถไฟซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 43 ตู้ ภายในเต็มไปด้วย เครื่องยนต์ ยางรถยนต์ กระดาษพิมพ์ ซึ่งผลิตจากนครฉงชิ่ง มูลค่ารวม 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกเดินทางจากศูนย์โลจิสติกส์ในนครฉงชิ่ง มีปลายทางที่กรุงฮานอย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 วัน น้อยกว่าเดิมที่สินค้าเหล่านี้ต้องขนส่งทางเรือ ที่ต้องใช้เวลานานกว่า 20 วัน
เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จีนเพิ่งเปิดตัวระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า โดยใช้การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากนครฉงชิ่ง ลงมายังจังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน ที่อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองโกก้าง ในภาคเหนือของรัฐชาน
จีนมีเป้าหมายจะใช้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า เป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุด เพราะจีนมีโครงการสร้างทางรถไฟจากจังหวัดหมู่เจ้ ชายแดนรัฐชาน-จีน ผ่านกรุงมัณฑะเลย์ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ในรัฐยะไข่
แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในพม่าที่ยังคงคุกรุ่นมาตลอด นับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทางรถไฟสายนี้จึงยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง