MGR Online - “ลูเธอร์” 1 ใน 2 เด็กแฝดลิ้นดำ อดีตผู้นำ “ก็อดอาร์มี่”เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ได้กลับสู่สนามรบอีกครั้ง คราวนี้ออกแนวหน้า นำทัพกะเหรี่ยงโจมตีทหารพม่าในสมรภูมิเมียวดี ที่พันตูต่อเนื่องมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว
เช้าวันนี้ (27 มี.ค.) The Karen Post เพจข่าวสารความเคลื่อนไหวของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้เผยแพร่ภาพลูเธอร์ ทู 1 ใน 2 แฝดลิ้นดำ “จอห์นนี่-ลูเธอร์” อดีตผู้นำกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงที่ใช้ชื่อว่า “ก็อดอาร์มี่” ซึ่งเคยตกเป็นข่าวโด่งดังในประเทศไทยต่อเนื่องหลายปี เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว
The Karen Post โพสต์เนื้อหาสั้นๆ ว่า อดีตผู้นำก็อดอาร์มี่ ลูเธอร์ ทู ยังคงสู้รบกับทหารพม่าอยู่ และเขามักออกแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อปกป้องชาวกะเหรี่ยง เพื่อเป้าหมายให้ชาวกะเหรี่ยงได้มีเสรีภาพ และมีสันติใน “กอทูเล” หรือรัฐกะเหรี่ยงอิสระ
แฝดลิ้นดำ “จอห์นนี่-ลูเธอร์” ซึ่งขณะนี้น่าจะมีวัยประมาณ 35 ปีแล้ว เคยถูกยกขึ้นเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ที่ใช้ชื่อว่า “ก็อดอาร์มี่” ที่ก่อตั้งขึ้นประมาณปี 2540 โดยมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า แถบจังหวัดกาญจนบุรีและตาก
เหล่านักรบก็อดอาร์มี่เชื่อว่า “จอห์นนี่-ลูเธอร์” ซึ่งขณะนั้นทั้งคู่เพิ่งจะมีอายุเพียง 10 ขวบ เป็นผู้ที่ได้รับสารมาจากพระเจ้า เพื่อมาเป็นผู้นำให้ทหารของพระเจ้า ศาสตราวุธทั้งหลายไม่สามารถทำอันตรายแก่ทั้งคู่ได้ เหล่าทหารก็อดอาร์มี่จึงได้ยกฝาแฝดคู่นี้ขึ้นเป็นผู้นำทัพ
เหตุที่ถูกเรียกว่าเป็นแฝดลิ้นดำ เพราะก่อนหน้านั้นเหล่านักรบก็อดอาร์มี่เคยยกเด็กอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า “จอปาซูปรี” ซึ่งมีอายุ 10 ขวบเช่นกัน ขึ้นเป็นหัวหน้า จอปาซูปรีมีลักษณะเด่นตรงที่ลิ้นมีสีดำ แต่ภายหลังจอปาซูปรีเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจ จึงได้ยกให้ “จอห์นนี่-ลูเธอร์” ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน และแม้ทั้งคู่ไม่มีลิ้นสีดำ แต่ก็ถูกเรียกเป็นแฝดลิ้นดำในเชิงสัญลักษณ์
ชื่อก็อดอาร์มี่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย หลังเกิดเหตุการณ์นักศึกษาพม่าบุกจับตัวประกันในสถานทูตพม่าที่กรุงเทพฯ และบุกยึดโรงพยาบาลที่จังหวัดราชบุรี ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายปี 2542 กับต้นปี 2543
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีนักศึกษาพม่า 12 คน พร้อมอาวุธครบมือ มีผู้นำชื่อ “จอห์นนี่” ได้บุกเข้าไปในสถานทูตพม่า ที่ถนนสาทร และจับเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเป็นตัวประกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าขณะนั้นปล่อยตัวอองซาน ซูจี ที่กำลังถูกควบคุมตัวไว้
ทางการไทย โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ พยายามเจรจาจนนักศึกษาพม่ากลุ่มนี้ยินยอมปล่อยตัวประกัน พร้อมนำเฮลิคอปเตอร์ไปส่งนักศึกษากลุ่มนี้ที่ชายแดนไทย-พม่า โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมนั่งไปบนเฮลิคอปเตอร์ด้วย
ต่อมาอีกเพียง 3 เดือนเศษ ในวันที่ 24 มกราคม 2543 นักศึกษาพม่าอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 10 คน พร้อมอาวุธครบมือ ผู้นำชื่อเบดา หรือปรีดา ได้บุกเข้าไปยึดโรงพยาบาลราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้เป็นตัวประกัน เรียกร้องให้แพทย์ พยาบาลไปรักษาพรรคพวกของตนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบกับทหารพม่า
แต่คราวนี้ทางการไทยใช้ไม้แข็ง ใช้กำลังผสมจากหน่วยอรินทราช 26 กับนเรศวร 261 บุกเข้าไปวิสามัญนักศึกษากลุ่มนี้จนเสียชีวิต และช่วยตัวประกันออกมาได้ทั้งหมด
หลังทั้ง 2 เหตุการณ์ สื่อมวลชนหลายแห่งพยายามหาข้อมูลของนักศึกษากลุ่มนี้ พบว่าเป็นกลุ่มที่เคยลี้ภัยการเมืองจากเหตุการณ์ 8888 มาอาศัยอยู่ในศูนย์มณีลอย ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แต่ต่อมาได้ข้ามชายแดนเพื่อกลับไปเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า แต่ได้ไปขออาศัยอยู่กับกองกำลังก็อดอาร์มี่
สื่อมวลชนแทบทุกแห่งในตอนนั้นจึงได้เสนอข่าวในทำนองที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การบุกจับตัวประกันที่เกิดขึ้นมีกลุ่มก็อดอาร์มี่อยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงพม่า
แม้เป็นฝาแฝด แต่ “จอห์นนี่-ลูเธอร์” ก็มีบุคลิกที่ต่างกัน โดยจอห์นนี่มีบุคลิกที่อ่อนโยน ไว้ผมยาว ส่วนลูเธอร์ มีบุคลิกกร้าวแกร่ง มักไว้ผมทรงแปลกๆ และมีเอกลักษณ์เด่น คือมือที่มักคีบบุหรี่มวนโตไว้แทบตลอดเวลา
วันที่ 16 มกราคม 2544 จอห์นนี่-ลูเธอร์ พร้อมกองกำลังอีก 55 คน ได้เข้ามอบตัวต่อทางการไทย และถูกส่งตัวไปอยู่ในค่ายผู้อพยพที่บ้านต้นยาง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
เมื่ออายุได้ 21 ปี ลูเธอร์ได้เคยลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดน แต่พออายุ 27 ปี ก็กลับไปอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง สร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้เด็กกะเหรี่ยง ลูเธอร์แต่งงานกับสาวชาวกะเหรี่ยง และมีลูกแฝดหญิง 2 คน ส่วนจอห์นนี่ เมื่อโตขึ้นได้ไปทำงานอยู่ในจังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี จากนั้นได้ย้ายไปอยู่กับแม่ของเขาที่ประเทศนิวซีแลนด์.