xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! สภาพค่ายผู้ลี้ภัยบ้าน “เลเกก่อ” หลังพบผู้ติด “โอมิครอน” แล้ว 18 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว บ้านเลเกก่อ อำเภอเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
MGR Online - ค่ายผู้ลี้ภัยจากบ้านเลเกก่อ เมียวดี ตรงข้ามแม่สอด พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แล้ว 18 ราย หวั่นเชื้อแพร่กระจายเร็ว เหตุมีผู้อพยพจำนวนมาก และสภาพค่ายไม่ถูกสุขลักษณะ

วานนี้ (23 ก.พ.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนภายในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่บ้านเลเกก่อ อำเภอเมียวดี แล้ว 18 ราย โดยส่วนหนึ่งในนี้เป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2-3 ขวบ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมียวดีได้เข้าตรวจหาเชื้อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ได้รับการตรวจไปแล้วประมาณ 500 คน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ลี้ภัยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

ค่ายแห่งนี้เปิดขึ้นเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารกองทัพพม่า กับทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่บ้านเลเกก่อ ในเขตอำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2564

สภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดฝนหลงฤดูขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วทั้งค่าย
การสู้รบรุนแรงเกิดขึ้นในตอนกลางดึกของวันที่ 23 ธันวาคม หลังกองทัพพม่านำเครื่องบินขึ้นยิงจรวดเข้าใส่ที่มั่นของ KNLA ในบ้านเลเกก่อ ส่งผลให้ผู้อพยพนับหมื่นคนต่างพากันหนีตาย ข้ามแม่น้ำเมยมาขอลี้ภัยอยู่ฝั่งไทย ในพื้นที่ตำบลแม่ตาว

สถานการณ์สู้รบที่บ้านเลเกก่อเริ่มสงบลงในต้นเดือนมกราคมปีนี้ ผู้ลี้ภัยเริ่มทยอยข้ามกลับไปฝั่งรัฐกะเหรี่ยง แต่ทั้งหมดยังไม่กล้ากลับเข้าไปในหมู่บ้าน จึงมีการตั้งค่ายพักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่เลยจากริมฝั่งแม่น้ำไปเล็กน้อย

ปัจจุบัน นอกจากชาวบ้านเลเกก่อแล้ว ยังมีชาวบ้านจากอีกหลายพื้นที่ ซึ่งมีการสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับ KNLA ได้มาขออาศัยอยู่ในค่ายชั่วคราวแห่งนี้เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายมีมากถึงกว่า 5,800 คน จากประมาณ 2,000 ครอบครัว

ทุกวันนี้ สภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยในค่ายเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต่างต้องอาศัยหลับนอนอยู่ในเต็นท์ผ้าใบที่สร้างขึ้นชั่วคราว อาหารการกิน ห้องน้ำ ห้องส้วม ล้วนไม่ถูกสุขลักษณะ การตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนภายในค่ายแห่งนี้ จึงมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อโรคอาจแพร่กระจายออกไปได้อีกอย่างรวดเร็ว.












กำลังโหลดความคิดเห็น