เอเอฟพี - กลุ่มนักเคลื่อนไหวเผยว่ามีไม้สักเกือบ 1,600 ตัน จากพม่าส่งออกไปยังบริษัทอเมริกันในช่วงปีที่ผ่านมา โดยหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่บังคับใช้เพื่อระงับผลกำไรหลายล้านดอลลาร์ของรัฐบาลทหาร
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เผชิญกับความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างกว้างขวาง และกองทัพพยายามปราบปรามด้วยความรุนแรง ซึ่งสังหารผู้คนไปราว 1,400 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น
สหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับกองทัพพม่าและบริษัทในเครือ รวมถึงบริษัท Myanma Timber Enterprise ที่บริหารจัดการการจำหน่ายไม้ทั่วประเทศ
ไม้ที่ปลูกในพม่าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ไม้สัก ที่ช่างต่อเรือและผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชื่นชอบและใช้มาอย่างยาวนานเนื่องจากความคงทนในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น
การนำเข้าไม้สักไปยังสหรัฐฯ ควรถูกห้ามภายใต้มาตรการคว่ำบาตร แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ‘Justice for Myanmar’ พบว่า มีไม้เกือบ 1,600 ตัน ไปถึงบริษัทอเมริกันระหว่างเดือน ก.พ. ถึงสิ้นเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว
“ไม้มาถึงด้วยการขนส่ง 82 ครั้ง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแผ่นไม้สักและไม้สักชิ้นเล็กๆ ที่ใช้สำหรับต่อเรือ พื้นระเบียง และเฟอร์นิเจอร์” กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าว โดยอ้างตัวเลขจากฐานข้อมูลการค้าทั่วโลกของบริษัท Panjiva
กลุ่ม Justice for Myanmar เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามการนำเข้าไม้จากพม่าทั้งหมด
“ดูเหมือนว่าไม้จำนวนมากถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่ 3 เช่นจีน” รายงานระบุ
ข้อมูลของโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (EITI) ระบุว่า พม่าได้รับรายได้เกือบ 100 ล้านดอลลาร์จากภาษีและค่าสิทธิจากการค้าไม้ในช่วงปีงบประมาณ 2560-2561 ขณะที่รายได้สำหรับอุตสาหกรรมป่าไม้ทั้งหมดมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 322 ล้านดอลลาร์
นอกเหนือจากไม้ พม่าที่อุดมด้วยทรัพยากรยังเต็มไปด้วยเหมืองหยกและเหมืองทองคำ ที่รายได้จากสิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทในเครือของกองทัพ ที่นำส่งผลกำไรไปสู่กองทัพ
รัฐบาลทหารอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในเดือน ก.พ. จากข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งปีก่อน ที่พรรคของอองซานซูจีกวาดชัยชนะ.