xs
xsm
sm
md
lg

เปิด ร.ร.มัธยมใหม่หลักสูตร 2 ภาษา “จีน-พม่า” ในโกก้างชายแดนรัฐชาน รับระเบียง ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองของโรงเรียนมัธยม 2 ภาษา ที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ในเมืองเล่าก์ก่าย
MGR Online - สมาคมพัฒนาสังคมโกก้างเตรียมสร้างโรงเรียนมัธยมแห่งใหม่ในเมืองหลวง “เล่าก์ก่าย” สอนหลักสูตร 2 ภาษาฟรี ไม่เก็บค่าเล่าเรียน คาดเสร็จพร้อมเปิดเทอมในอีก 2 ปีข้างหน้า รับกับระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-พม่า” เชื่อมเฉิงตู-หลินชาง-โกก้าง-ยะไข่ ซึ่งเป็นทางออกมหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน

ดอ ฉ่อฉ่อเอ ประธานสมาคมพัฒนาสังคมโกก้าง เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สมาคมฯ จะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงเรียนมัธยมแห่งใหม่ขึ้นบนพื้นที่ 10 เอเคอร์ หรือ 25.3 ไร่ ในเขตเวียงกาดเก่า (ตลาดเก่า) เมืองเล่าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 30 ล้านหยวน หรือประมาณ 8,000 ล้านจั๊ต

การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2565-2566 จากนั้นจะรับเด็กๆ ในเขตโกก้างที่สูญเสียโอกาสทางการศึกษาในช่วงก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนที่กำลังจะเปิดขึ้นใหม่

ดอ ฉ่อฉ่อเอ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้วางหลักสูตรการเรียนการสอนไว้เป็นระบบ 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาราชการ และภาษาโกก้าง ซึ่งก็คือภาษาจีนกลาง และแม้โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชน แต่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเปิดสอนให้ฟรี โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร และค่าที่พักในกรณีที่เป็นนักเรียนประจำ

เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง อยู่ชายแดนพม่า-จีน ในภาคเหนือของรัฐชาน ฝั่งตรงข้ามคือเขตปกครองตนเองชนชาติไต และว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน

ชาวโกก้างคือ ชาวจีนฮั่นที่เป็นอดีตทหารในกองทัพของขุนศึกตระกูลหยาง ซึ่งได้อพยพลี้ภัยการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่ลงมาทางใต้เมื่อ 300 ปีก่อน และได้ตั้งหลักปักฐานสร้างเมืองอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2383

เมื่ออังกฤษเข้าครอบครอง กำหนดให้รัฐชานเป็นดินแดนภายใต้อารักขาในปี 2433 อังกฤษได้ตกลงแบ่งเขตแดนกับจีน ปรากฏว่าเมืองของชาวไทใหญ่หลายเมือง เช่น เมืองมาว เมืองขอน เมืองตี เมืองวัน เมืองกึ่งม้า ได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในดินแดนของจีน ขณะที่เมืองโกก้างซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของสันเขา ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาน

ทุกวันนี้ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ในเขตโกก้าง ยึดตามวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก ภาษาถิ่นที่ใช้เป็นภาษาจีนกลาง เพียงแต่ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ

เล่าก์ก่าย เมืองหลวงของโกก้างอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้ง 1,116 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ในเขตโกก้างยังมีชิงส่วยเหอ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ อยู่ทางใต้ของเล่าก์ก่ายลงไป (ดูแผนที่ประกอบ)





คณะทำงานสมาคมพัฒนาสังคมโกก้าง กำลังดูพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนมัธยม 2 ภาษา
ชิงส่วยเหอ เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองกึ่งม้าเช่นกัน เป็นประตูการค้าระหว่างพม่า-จีน ที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ที่อยู่ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

วันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า เพื่อเป็นทางออกสู่ทะเลด้านมหาสมุทรอินเดียให้แก่จีน โดยใช้เส้นทางขนส่งสินค้าแบบบูรณาการ เรือ-รถยนต์-รถไฟ

ด้วยระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ จีนได้สร้างทางรถไฟเชื่อมจากเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ลงมาทางใต้สู่เมืองหลินชาง มณฑลยูนนาน จากนั้นมีแผนเชื่อมการคมนาคมผ่านด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ในเขตโกก้าง เข้าสู่พื้นที่พม่า และต่อลงไปถึงท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองเจ้าก์ผิ่วแล้ว จีนยังเตรียมสร้างทางรถไฟจากชายแดนรัฐชาน ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ลงไปถึงท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่วอีกด้วย

ทางการจีนระบุว่า ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพราะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน โดยระยะทางจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ไปถึงด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ยาว 983 กิโลเมตร และจากชิงส่วยเหอ ผ่านหลิงชาง ไปถึงเมืองเฉิงตู ยาว 1,170 กิโลเมตร

ในพิธีเปิดเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม จีนเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการใช้วิธีใช้ขนส่งสินค้าที่นำเข้าจากแหล่งต่างๆ ผ่านทางเรือในมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นบกที่ท่าเรือย่างกุ้ง จากนั้นใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าเหล่านั้นขึ้นมาข้ามชายแดนที่ชิงส่วยเหอ เพื่อไปขึ้นรถไฟที่หลิงชางส่งต่อไปยังเมืองเฉิงตู

หลังประกาศเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่าได้เพียง 10 วัน ในวันที่ 7 กันยายน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD ได้ประกาศทำสงครามเพื่อขับไล่รัฐบาลทหารพม่า ทำให้สถานการณ์รุนแรงในหลายพื้นที่ของพม่าร้อนระอุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.

ที่ตั้งเมืองเล่าก์ก่ายและชิงส่วยเหอ

แนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า


กำลังโหลดความคิดเห็น