xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเปิดปมขัดแย้งทางชาติพันธุ์กับ "โกก้าง" หลังผุดอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ในเล่าก์ก่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 อนุสาวรีย์ 3 บูรพกษัตริย์ที่กำลังสร้างอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย
MGR Online - กองทัพพม่าเปิดปมขัดแย้งทางชาติพันธุ์ขึ้นอีกครั้ง หลังลงมือสร้างอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ขึ้นใน “เล่าก์ก่าย” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองโกก้าง ที่กำลังเป็นเส้นทางสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน ขณะที่ทหาร 2 ฝ่าย สู้รบกันหนักมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

มีความเคลื่อนไหวที่อาจบานปลายเป็นปมขัดแย้งทางชาติพันธุ์ขึ้นอีกครั้งในพม่า เมื่อรัฐบาลทหารกำลังสร้างอนุสาวรีย์ 3 บูรพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพม่า ประกอบด้วย พระเจ้าอโนรธาแห่งเมืองพุกาม พระเจ้าบุเรงนองแห่งเมืองหงสาวดี และพระเจ้าอลองพญาแห่งเมืองชเวโบ ขึ้นที่ปากทางเข้าเวียงตลาดเก่า ในเมืองเล่าก์ก่าย เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง โดยไม่ได้สอบถามความเห็นของชาวโกก้างก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่

กองทัพพม่าเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ของ 3 บูรพกษัตริย์ขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนก่อน ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณ 80% แต่สำนักข่าว BBC ภาคภาษาพม่า เพิ่งนำข่าวนี้มาเผยแพร่เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) จากนั้นสำนักข่าวอื่นอีกหลายแห่งได้นำไปเผยแพร่ต่อ


นับแต่นายพลเนวินปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองพม่าให้มาอยู่ในมือของกองทัพเมื่อปี 2505 กองทัพพม่ามักใช้วิธีสร้างสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของชาวพม่ามากดทับชาติพันธุ์อื่นในหลายพื้นที่ เช่น สร้างพระพุทธรูปยืนชี้นิ้วขึ้นในเมืองเชียงตุง สร้างมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง และอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง ขึ้นในเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชาน หรือเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และเมื่อกองทัพพม่าสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เนปิดอ ก็ได้สร้างอนุสาวรีย์ของ 3 บูรพกษัตริย์ขึ้นที่นี่
อนุสาวรีย์ของ 3 บูรพกษัตริย์ที่กำลังสร้างอยู่ที่เล่าก์ก่าย เป็นรูปแบบเดียวกับอนุสาวรีย์ที่กำลังสร้างอยู่ด้านหน้าสถาบันการทหาร ที่เมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ แต่ที่เล่าก์ก่ายมีขนาดใหญ่กว่า

หลังรัฐบาลพลเรือนของพรรค NLD ได้ขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2559 ก็ได้เดินตามแนวทางของกองทัพ โดยสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซาน บิดาของอองซาน ซูจี ขึ้นในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์หลายแห่ง ก่อปมขัดแย้งขึ้นในหลายเมืองที่ไม่ใช่ชาวพม่า เพราะมีการต่อต้านอย่างหนัก เช่น ชาวกะเหรี่ยงแดงในเมืองลอยก่อ รัฐกะยา ได้เดินขบวนประท้วงการก่อสร้าง ทำให้รัฐบาลของอองซาน ซูจี ได้จับกุมแกนนำซึ่งเป็นนักศึกษาหลายคนไปคุมขังไว้

เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง อยู่ชายแดนพม่า-จีน ในภาคเหนือของรัฐชาน ฝั่งตรงข้ามคือเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน

ชาวโกก้างคือชาวจีนฮั่นที่เป็นอดีตทหารในกองทัพของขุนศึกตระกูลหยาง ซึ่งได้อพยพลี้ภัยทางการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ 300 ปีก่อน ลงมาทางใต้ และได้ตั้งหลักปักฐานสร้างเมืองอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2383

หลังจากอังกฤษได้เข้าครอบครองกำหนดให้รัฐชานเป็นดินแดนภายใต้อารักขาเมื่อปี 2433 อังกฤษและจีนได้ตกลงแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างกัน เมืองของไทใหญ่หลายเมือง เช่น เมืองมาว เมืองขอน เมืองตี เมืองวัน เมืองกึ่งม้า ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในดินแดนของจีน แต่เมืองโกก้างซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของสันเขา ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาน

ทุกวันนี้ ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ในเขตโกก้าง ยึดตามวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก ภาษาถิ่นที่ใช้ก็เป็นภาษาจีน เพียงแต่ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ

ที่ตั้งเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง
เดิมอังกฤษได้กำหนดให้เมืองโกก้างขึ้นต่อเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะเจ้าเมืองโกก้างไม่พอใจที่เจ้าฟ้าแสนหวีเก็บภาษีจากโกก้างมากกว่าเมืองอื่น เนื่องจากโกก้างมีรายได้จากการปลูกฝิ่นที่เมืองไทใหญ่อื่นๆ ไม่มี ในที่สุดโกก้างได้แยกตัวจากแสนหวี และสถาปนา “หยาง เจินไส” ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าปกครอง ทำให้รัฐชานซึ่งเดิมมีเจ้าฟ้าอยู่ 33 เมือง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 34 เมือง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โกก้างได้ตั้งกองทัพของตนเองขึ้น และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เช่นเดียวกับกองทัพชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กองทัพว้า (UWSA) กองทัพของชาวลื้อเมืองลา (NDAA) กองทัพไทใหญ่ในนามพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP) จนถึงปี 2532 หลายกลุ่มเริ่มทยอยแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า โดยกองทัพโกก้างแยกตัวออกเป็นกลุ่มแรก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 และทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า

รัฐบาลทหารพม่าตอบแทนโดยสถาปนาเขตพิเศษที่ 1 ให้ชาวโกก้างได้ปกครองตนเอง มีเมืองเล่าก์ก่ายเป็นเมืองเอก และตั้งชื่อกองทัพโกก้างว่า กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA) และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ได้รับรองให้พื้นที่โกก้างเป็นเขตปกครองตนเอง

ปี 2552 กองทัพพม่าได้กดดันให้กองทัพโกก้าง (MNDAA) แปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force : BGF) ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า แต่กองทัพโกก้างปฏิเสธ ความตึงเครียดระหว่างกองทัพโกก้างกับกองทัพพม่าจึงเกิดขึ้น

2 ฝ่ายเริ่มต้นสู้รบกันในเดือนสิงหาคม 2552 กองทัพพม่าใช้กำลังรุกไล่โจมตีจนทหารโกก้างต้องหนีข้ามไปลี้ภัยในฝั่งจีนเหตุการณ์จึงสงบลง ต่อมาต้นปี 2558 สงครามระหว่างกองทัพพม่ากับโกก้างกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง คราวนี้กองทัพพม่าใช้อาวุธหนักและเครื่องบินโจมตีฐานทหารโกก้าง มีกระสุนข้ามไปตกฝั่งจีนจนมีคนจีนเสียชีวิต ประธานาธิบดีเตงเส่งได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองเล่าก์ก่าย จากนั้นเกิดความตึงเครียด และมีการปะทะกันระหว่างทหารโกก้างกับทหารพม่าเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การปะทะใหญ่ครั้งล่าสุด เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองโก กับเมืองป่างซ้าย จังหวัดหมู่เจ้ ที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปจากเมืองเล่าก์ก่าย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการสู้รบกันอยู่

ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า เส้นทางออกมหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการจีนเพิ่งประกาศเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ด้วยเส้นทางขนส่งสินค้าแบบบูรณาการ เรือ-รถยนต์-รถไฟ เชื่อมจากเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ลงมายังเมืองหลินชาง มณฑลยูนนาน จากนั้นข้ามเข้าพม่าทางด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ที่อยู่ทางใต้จากเมืองเล่าก์ก่ายลงมา โดยในพม่า มีโครงข่ายถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อลงไปถึงท่าเรือเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ซึ่งทางจีนกำลังวางแผนก่อสร้างอยู่

ทางการจีนระบุว่า ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพราะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน.


กำลังโหลดความคิดเห็น