xs
xsm
sm
md
lg

พระ-เณรชายแดน "ไทย-พม่า" ระดมขุดอุโมงค์หลบภัยเกรงถูกปืนใหญ่บอมบ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระภิกษุ-สามเณร วัดฟ้าเวียงอินทร์ ช่วยกันขุดเจาะผนังภูเขาเป็นอุโมงค์หลบภัย
MGR Online - พระ-เณร วัดฟ้าเวียงอินทร์บนเส้นพรมแดนไทย-รัฐชาน ระดมแรงขุดอุโมงค์หลบภัย หลังมีข่าวกองทัพพม่าจะเข้าโจมตีไทใหญ่ เหตุอยู่ในพื้นที่ใกล้กลับค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยสงคราม 2 แห่ง หวั่นถูกบอมบ์ด้วยกระสุนปืนใหญ่

วานนี้ (3 เม.ย.) พระภิกษุ-สามเณร ซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดฟ้าเวียงอินทร์ บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ระดมแรงงานช่วยกันขุดอุโมงค์หลบภัย ภายหลังมีข่าวว่ากองทัพพม่า เตรียมนำกำลังเข้าโจมตีที่มั่นทางทหารของกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน

เวลาประมาณ 14.00น. บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Watfahwianginn Borderline ซึ่งเป็นของพระภิกษุในวัดฟ้าเวียงอินทร์ ได้เผยแพร่ภาพชุดกว่า 20 ภาพ ที่เห็นว่าเหล่าพระ-เณรของวัดกำลังช่วยกันเจาะผนังภูเขาเป็นอุโมงค์เข้าไปประมาณ 4-5 จุด โดยเจ้าของโพสต์ได้เขียนคำบรรยายไว้ 2 ภาษาไทยและไทใหญ่ ภาษาไทยเขียนสั้นๆ ว่า

“วันนี้ วันที่ 3 เมษายน 2564 พระภิกษุ-สามเณร วัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดสองแผ่นดินไทย-พม่า วันนี้เริ่มขุดหลุม ขุดอุโมงค์เตรียมสถานที่หลบภัย เพื่อป้องกันการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตามที่มีข่าว”

โพสต์ใน เฟซบุ๊กของ Watfahwianginn Borderline มีผู้แชร์ต่อไปแล้วมากกว่า 1,300 ครั้ง


วัดฟ้าเวียงอินทร์เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่บนเนินเขา 2 ลูก ในพื้นที่ซึ่งคร่อมเส้นเขตแดน 2 ประเทศ เนินเขาลูกหนึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุมารชินะเจดีย์ อยู่ในเขตบ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เนินเขาอีกลูกหนึ่งเป็นที่ตั้งของอุโบสถไม้ อยู่ในเขตอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ รัฐชาน

นอกจากตั้งอยู่บนเส้นแบ่งชายแดน 2 ประเทศแล้ว วัดฟ้าเวียงอินทร์ ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยจากสงคราม 2 แห่ง คือ ค่ายพักพิงดอยดำ ในเขตเมืองปั่น ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 253 คน และศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านกุงจ่อ ในตำบลเปียงหลวง มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 303 คน

เมื่อปี 2511 หลังจากเจ้ากอนเจิง หรือนายพลโมเฮิง ชนะศึก อดีตผู้นำกู้ชาติไทใหญ่ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและอาศัยอยู่ที่เปียงหลวง ได้เป็นผู้นำในการบูรณะวัดฟ้าเวียงอินทร์ และสร้างพระธาตุมารชินะเจดีย์ขึ้น สามารถดึงแรงศรัทธาจากทั้งชาวไทยและไทใหญ่ให้มาสักการะ จนวัดฟ้าเวียงอินทร์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ

เจ้ากอนเจิง เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2469 ที่บ้านทะเนาะ ตำบลลายสาก อำเภอโหโป่ง จังหวัดตองจี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ร่วมกับกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองรัฐชาน


ปี 2502 เมื่อครั้งเป็นนายทหารในกองทัพหนุ่มศึกหาญของเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เจ้ากอนเจิงต้องสูญเสียแขนซ้ายขณะที่รบกับทหารพม่าบริเวณบ้านห้วยอ้อ อำเภอเมืองโต๋น ใกล้กับเมืองหางที่ตั้งสถูปสมเด็จพระนเรศวรองค์เก่าใน จังหวัดเมืองสาต เป็นที่มาของฉายานายพลแขนเดียว อันเป็นที่เกรงขามของทหารพม่า

ปี 2504 เป็นผู้นำในการก่อตั้งแนวร่วมสหชาติชาน (SNUF) ปี 2507 ร่วมก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยรัฐชาน (SSIA) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกองทัพรัฐชาน (SSA)

ปี 2511 เจ้ากอนเจิงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และบูรณะพระธาตุมารชินะเจดีย์ ที่บ้านหลักแต่ง

ปี 2512 เป็นแกนนำก่อตั้ง “กองทัพสหปฏิวัติชาน” (SURA) ที่เปียงหลวง ปี 2525 ผลักดันให้รัฐชานมีความเป็นเอกภาพ ก่อตั้งกองทัพรัฐชานใต้ (SSA-S) และก่อตั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้ชื่อ “สภาปฏิวัติไต” (Tai Revolution Council- TRC) ปี 2526 สามารถเจรจาให้ขุนส่า ยอมนำกองกำลังรวมชาน (SUA) มาเข้าร่วมกับ TRC

แนวทางการทำงานของเจ้ากอนเจิง ยึดมั่นหลักคิดตามภาษาไทใหญ่ 4 คำ คือ “แม-ฮัก-พ้อม-จอย” แปลได้ว่า “แก้ไขด้วยรัก พร้อมเพรียงเกื้อหนุน” ซึ่ง พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ที่เคยเป็นนายทหารสื่อสาร ติดตามเจ้ากอนเจิง อย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ได้ใช้เป็นชื่อรายการวิทยุที่เจ้ายอดศึกจัดเองสดๆ ทุกสัปดาห์ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เนื้อหารายการบอกเล่าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐชานและห้ชาวไทใหญ่ได้รับรู้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2534 ขณะที่มีอายุได้ 65 ปี เจ้ากอนเจิงได้เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็ง ณ หอปฏิบัติธรรมส่วนตัว ในวัดฟ้าเวียงอินทร์.






กำลังโหลดความคิดเห็น