รอยเตอร์ - เวียดนามขู่จะปิดเฟซบุ๊กในประเทศหากเฟซบุ๊กไม่ยอมตามแรงกดดันของรัฐบาลในการเซ็นเซอร์เนื้อหาทางการเมืองท้องถิ่นบนแพลตฟอร์มของบริษัทให้มากขึ้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เผยกับรอยเตอร์
เฟซบุ๊กปฏิบัติตามคำร้องของรัฐบาลในเดือน เม.ย. ที่จะเพิ่มการเซ็นเซอร์โพสต์ต่อต้านรัฐกับผู้ใช้งานท้องถิ่น แต่เวียดนามได้ร้องบริษัทอีกครั้งในเดือน ส.ค. ให้เพิ่มข้อจำกัดกับโพสต์เชิงวิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ระบุ
“เราได้ทำข้อตกลงในเดือน เม.ย. เฟซบุ๊กได้ยึดตามข้อตกลงนั้น และเราคาดหวังว่ารัฐบาลเวียดนามจะทำเช่นเดียวกัน พวกเขากลับมาหาเราและพยายามให้เราเพิ่มปริมาณเนื้อหาที่เราจำกัดในเวียดนาม ซึ่งเราบอกพวกเขาว่าไม่ แต่คำร้องข้อนั้นมาพร้อมกับภัยคุกคามบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากเราไม่ทำ” เจ้าหน้าที่ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อโดยอ้างถึงความอ่อนไหวของประเด็น กล่าว
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ภัยคุกคามยังรวมถึงการปิดเฟซบุ๊กทั้งหมดในเวียดนาม ประเทศที่เป็นตลาดหลักสำหรับบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำรายได้เกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามแหล่งข่าว 2 รายที่คุ้นเคยกับตัวเลขดังกล่าว
เฟซบุ๊กเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลต่างๆ มากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายด้านเนื้อหาของบริษัท รวมถึงคำขู่เกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่และการปรับเงิน
ในเวียดนาม แม้จะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศก็ยังคงควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดและอดทนยินยอมต่อการต่อต้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 5 จากท้ายของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลกที่รวบรวมโดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน
กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามกล่าวตอบคำถามจากรอยเตอร์ว่า เฟซบุ๊กควรปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นและระงับการแพร่กระจายข้อมูลที่ละเมิดขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของเวียดนามและละเมิดผลประโยชน์รัฐ
โฆษกของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า บริษัทเผชิญแรงกดดันจากเวียดนามที่ต้องการให้เซ็นเซอร์เนื้อหาให้มากขึ้นในช่วงหลายเดือนมานี้
เฟซบุ๊ก ที่ให้บริการผู้ใช้งานราว 60 ล้านคนในเวียดนาม ด้วยเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับทั้งอี-คอมเมิร์ซ และการแสดงออกถึงความเห็นต่างทางการเมือง อยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐบาลตลอดเวลา
รอยเตอร์ได้ออกรายงานพิเศษในเดือน เม.ย. ระบุว่า เซิร์ฟเวอร์ท้องถิ่นของเฟซบุ๊กในเวียดนามถูกออฟไลน์ในช่วงต้นปีนี้ จนกระทั่งบริษัทปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล
เฟซบุ๊กเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนมายาวนานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์
“อย่างไรก็ตาม เราจะทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าบริการของเรายังคงมีอยู่เพื่อที่ผู้คนจะยังสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกเขาได้ต่อไป” โฆษกของเฟซบุ๊ก กล่าว
เวียดนามได้พยายามที่จะเปิดให้บริการเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่ผลิตขึ้นในประเทศเพื่อแข่งขันกับเฟซบุ๊ก แต่ไม่มีบริการรายใดบรรลุระดับความนิยมอย่างมีนัยสำคัญ และเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทไม่เห็นการอพยพของผู้ใช้งานชาวเวียดนามไปยังแพลตฟอร์มท้องถิ่น.