MGR Online - เวียงจันทน์นำประเพณีโบราณ การแข่งขันตีคลีระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ มาใช้เสี่ยงทายอนาคตประเทศ ในวันสุดท้ายของงานบุญพระธาตุหลวง
วานนี้ (31 ต.ค.) ซึ่งเป็นสุดท้ายของประเพณีนมัสการพระธาตุหลวง หรืองานบุญพระธาตุหลวง ศาสนสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้มีการนำประเพณีโบราณมาใช้เสี่ยงทายอนาคตประเทศ
ประเพณีดังกล่าว ได้แก่ การแข่งขันตีคลี โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมรัฐกรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับทีมของประชาชน โดยการแข่งขันเริ่มในเวลา 12.30 น. ก่อนแข่งได้มีการนำลูกคลีไปแห่รอบลานด้านหน้าพระธาตุหลวง ซึ่งใช้เป็นสถานที่แข่งขันรวม 3 รอบ
ลูกคลีที่นำมาใช้แข่งขันทำมาจากเหง้าไม้ไผ่ตัน กลึงจนเป็นลูกกลมทาสีทอง ส่วนไม้คลีทำจากไม้ไผ่ ทาสีทองและสีเงิน เพื่อบอกถึงทีมที่สังกัด ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมประชาชนเป็นฝ่ายชนะทีมรัฐกรไปได้ด้วยสกอร์ 5 ต่อ 4
เพจ Art and Culture of Laos อธิบายการเสี่ยงทายที่ได้จากผลการแข่งขันตีคลีครั้งนี้ว่า การที่ฝ่ายประชาชนชนะฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ บ่งบอกว่าบ้านเมืองจะพบแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ประชาชนจะไม่ถูกเจ้าหน้ารัฐข่มเหง จึงมีเวลาออกไปทำมาหากิน ทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย
งานบุญพระธาตุหลวงปีนี้จัดเพียง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 29-31 ตุลาคม จากปกติที่จัดประมาณ 7 วัน เนื่องจากเป็นปีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ นครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดงาน ได้สั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในบริเวณโดยรอบพื้นที่จัดงาน เพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็นงานประเพณีของชาวพุทธ
ธีมของงาน บรรดาบุคคลสำคัญในรัฐบาลเป็นแกนนำประชาชนออกมาทำบุญตักบาตร วันที่ 2 ของงาน (30 ต.ค.) มีขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรัก ความสามัคคีของเหล่าประชาชน ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการแข่งขันตีคลีเมื่อวานนี้
อนึ่ง ตีคลีเป็นการละเล่นพื้นเมืองทั้งของลาวและไทย การตีคลีสมัยโบราณในไทยมี 3 ประเภท ได้แก่ คลีช้างที่ผู้เล่นต้องขี่ช้างตีคลี คลีม้า ผู้เล่นจะต้องขี่ม้าตี และคลีคน ผู้เล่นจะต้องเดินหรือวิ่งตี การแข่งขันตีคลีเสี่ยงทายที่ลานพระธาตุหลวงของลาวเมื่อวานนี้เป็นคลีคน