เอเอฟพี - เมอส์ก (Maersk) บริษัทขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ระดับโลก จะหยุดใช้ท่าเรือที่มีทหารเป็นเจ้าของในพม่า ตามการเปิดเผยของกลุ่มสิทธิมนุษยชน หลังกลุ่มนำการรณรงค์ต่อต้านบริษัทระหว่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับกองกำลังทหาร
กองทัพพม่าถูกกล่าวหามายาวนานหลายสิบปีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และโดยเฉพาะการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 ได้สร้างความตื่นตกใจต่อประชาคมโลก และนำไปสู่การตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ
องค์กรเบอร์ม่า แคมเปญ ยูเค (Burma Campaign UK) กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนกำลังกดดันบริษัทต่างชาติจำนวนมากให้ตัดขาดการเชื่อมโยงกับทหาร
องค์กรเบอร์ม่า แคมเปญ ยูเค ประกาศว่า บริษัทเอพี โมลเลอร์-เมอส์ก
(A.P.Moller-Maersk) บริษัทขนส่งตู้สินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ตกลงที่จะหยุดใช้ท่าเรือที่ทหารเป็นเจ้าของตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค.นี้
แม้บริษัทเมอส์กจะไม่ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับเอเอฟพี แต่ระบุว่า บริษัทตระหนักถึงข้อเสนอจากสหประชาชาติเกี่ยวกับการรักษาการดำเนินงานในพม่า ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการสอบทานธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
การตัดสินใจของกิจการสัญชาติเดนมาร์กรายนี้มีความสำคัญอย่างมากและจะเพิ่มแรงกดดันต่อธุรกิจขนส่งรายอื่นๆ ให้ดำเนินการแบบเดียวกัน ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์กล่าว
ผู้ตรวจสอบสิทธิของสหประชาชาติสรุปรายงานปี 2561 ว่า กองทัพพม่าได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ที่การมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ของทหาร ผู้นำปัจจุบันของกองทัพ และธุรกิจของกองทัพ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ต่างได้
พม่ายังคงปฏิบัติการในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยชี้แจงว่าเป็นวิธีกำจัดกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา หลังเกิดเหตุการณ์การโจมตีหลายระลอกที่คร่าสมาชิกกองกำลังความมั่นคงไปกว่า 10 นาย
ชาวโรฮิงญาราว 750,000 คน หลบหนีข้ามพรมแดนไปอาศัยค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ การข่มขืน และการวางเพลิง
การสอบสวนอีกชุดหนึ่งโดยองค์การนิรโทษกรรมสากลในเดือนที่ผ่านมา ระบุว่า ธุรกิจระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือด้านทุนแก่หน่วยทหารที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการละเมิดสิทธิ
คิริน (Kirin) บริษัทผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของทหารพม่า ประกาศในเดือน มิ.ย.ว่า บริษัทกำลังทบทวนการดำเนินงานในประเทศ.