xs
xsm
sm
md
lg

‘สหายดุช’ อดีต ผบ.เรือนจำตวลสเลงยุคเขมรแดงเสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - กาง กึ๊ก เอียว หรือสหายดุช ที่ยอมรับว่าเป็นผู้กำกับดูแลการทรมานและสังหารชาวเขมรมากถึง 16,000 คน ขณะคุมเรือนจำที่อื้อฉาวที่สุดของเขมรแดงได้เสียชีวิตลงแล้วในวันพุธ (2) ขณะมีอายุ 77 ปี

อดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวลสเลงที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตจากคดีอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลมิตรภาพกัมพูชาโซเวียตในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลา 00.52 น. ของวันพุธ ตามการเปิดเผยของ เนธ เพียกตรา โฆษกศาลที่ดำเนินการพิจารณาคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมของเขมรแดง

หัวหน้าเรือนจำ จ.กันดาล ที่ดุชถูกจำคุกต่อจากเรือนจำศาลในปี 2556 กล่าวว่า ดุชถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมิตรภาพกัมพูชาโซเวียต หลังมีอาการหายใจลำบากเมื่อวันจันทร์ (31)

สหายดุช ที่ถูกพิจารณาคดีในปี 2552 เป็นเจ้าหน้าที่เขมรแดงระดับสูงคนแรกที่เผชิญหน้ากับศาลที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2547 จากข้อตกลงระหว่างสหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการปกครองที่โหดร้ายของเขมรแดงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.7 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรกัมพูชาในเวลานั้น


ระบอบการปกครองของเขมรแดงที่ปกครองกัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 ถูกกล่าวหาว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นเหตุให้คนในชาติเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการประหาร ความอดอยาก และการขาดการดูแลทางการแพทย์ เนื่องจากนโยบายสุดโต่งของเขมรแดง และเมื่อเวียดนามผลักดันเขมรแดงออกจากอำนาจจึงทำให้เห็นถึงขนาดและความป่าเถื่อนของการปกครองของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้น

ในฐานะผู้บัญชาการเรือนจำตวลสเลง ที่ใช้ชื่อรหัสว่า S-21 ดุชเป็นหนึ่งในอดีตเขมรแดงเพียงไม่กี่คนที่ยอมรับว่ามีส่วนรับผิดชอบบางอย่างต่อการกระทำของเขา เรือนจำตวลสเลงถูกดัดแปลงมาจากโรงเรียนมัธยม และเวลานี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงหลักฐานความโหดร้ายที่เขมรแดงได้ประหัตประหารผู้คน แม้กระทั่งสมาชิกของตัวเองที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี

ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของการปกครองหรือผู้ที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งจะถูกจำคุกและทรมานที่นั่น และมีเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิตออกมา

“ทุกคนที่ถูกจับและส่งตัวไปที่ S-21 ถือว่าเสียชีวิตไปแล้ว” คำให้การของดุชในเดือน เม.ย. 2552 กล่าว

นับตั้งแต่การพิจารณาคดีของดุช ศาลยังได้ตัดสินความผิดกับอดีตผู้นำระดับสูงของเขมรแดงอีก 2 คน ขณะที่จำเลยอีก 2 คน เสียชีวิตไปก่อนที่การพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น

นวน เจีย ผู้นำหมายเลข 2 ของเขมรแดง เสียชีวิตระหว่างกระบวนการอุทธรณ์ ส่วนเคียว สมพร อดีตประธานแห่งรัฐ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ น่าจะเป็นผู้นำระดับสูงของเขมรแดงคนสุดท้ายที่เผชิญกับการพิจารณาคดี เนื่องจากรัฐบาลเขมรคัดค้านการฟ้องร้องเพิ่มเติม




ยุก ชาง หัวหน้าศูนย์เอกสารกัมพูชา ที่รวบรวมเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของประเทศ กล่าวว่า การเสียชีวิตของดุชเป็นสิ่งที่เตือนให้เราทุกคนระลึกถึงเหยื่อของเขมรแดง และความยุติธรรมยังคงเป็นกระบวนการที่ยาวนานและยากลำบากในกัมพูชา

ดุชยอมรับต่อศาลว่าผู้คุมที่เรือนจำของเขาได้ทุบ เฆี่ยนตี และช็อตไฟฟ้านักโทษ แต่เขายังคงปฏิเสธคำกล่าวของผู้รอดชีวิตและพยานในการพิจารณาคดีที่ระบุว่าเขามีส่วนร่วมในการทรมานและประหารชีวิตคนด้วยตัวเอง

ในเดือน ก.ค.2553 ดุชถูกตัดสินจำคุกนาน 35 ปี และลดลงเหลือเพียง 19 ปี โดยหักจากช่วงเวลาที่ถูกคุมขัง ซึ่งผู้พิพากษากล่าวว่าพวกเขาพิจารณาจากบริบทของการกระทำที่โหดร้าย ความร่วมมือและการแสดงออกถึงความสำนึกผิดของดุช ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้รอดชีวิตที่กลัวว่าวันหนึ่งดุชอาจได้อิสระออกจากเรือนจำ แต่ในการอุทธรณ์ต่อมา คำตัดสินถูกเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตจากการก่ออาชญากรรมที่เลวร้ายต่อชาวเขมร

เช่นเดียวกับสมาชิกคนสำคัญหลายคนของเขมรแดง ดุชเป็นนักวิชาการมาก่อนที่จะกลายเป็นนักปฏิวัติ อดีตครูสอนคณิตศาสตร์รายนี้ได้เข้าร่วมขบวนการของพลพตในปี 2510

เขมรแดงยึดอำนาจได้ในปี 2518 และพยายามเปลี่ยนแปลงกัมพูชาให้กลายเป็นสังคมชาวนาในทันที และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย พวกเขาสนับสนุนการปกครองของตนด้วยการกำจัดผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูอย่างไร้ความปรานี และในปี 2519 ดุชได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าเรือนจำ S-21

ผู้พิพากษาศาลกล่าวว่า ดุชลงชื่อในทุกการประหารชีวิตที่นั่นและมักปรากฏตัวเมื่อผู้สอบสวนทรมานผู้ถูกคุมขังเพื่อให้รับสารภาพ ทั้งการดึงเล็บเท้า ช็อตไฟฟ้า และถ่วงน้ำ แม้เขาจะปฏิเสธ แต่ผู้พิพากษากล่าวว่า เขาเคยมีส่วนร่วมในการทรมานและประหารด้วยตัวเอง

การทรมานและประหารชีวิตที่เกิดขึ้นที่ตวลสเลงถูกบันทึกและถ่ายภาพไว้เป็นประจำ และเมื่อเขมรแดงถูกขับออกจากอำนาจในปี 2522 เอกสารและฟิล์มเนกาทีฟหลายพันชิ้นถูกทิ้งอยู่ที่เรือนจำ และกลายเป็นหลักฐานความโหดร้ายที่เกิดขึ้นของเขมรแดง

ดุชหลบหนีและหายตัวไปเกือบ 2 ทศวรรษทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ จนกระทั่งมีนักข่าวชาวอังกฤษพบตัวในปี 2542 และนำไปสู่การจับกุมในที่สุด.






กำลังโหลดความคิดเห็น