xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาขายสัตว์ป่าจากพม่าโผล่โซเชียลมีเดียอื้อ เฟซบุ๊กรับลูกกลุ่มอนุรักษ์ไล่ลบโพสต์ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - โฆษณาที่เผยให้เห็นชะมดถูกขังอยู่ในกรงที่ถูกเสนอขายอยู่บนเฟซบุ๊กเป็นเพียงหนึ่งในโฆษณาหลายร้อยชิ้นที่โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ได้ลบออกจากแพลตฟอร์มของตัวเองในการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้

“ไม่ดุร้าย แต่ก็ไม่เรียบร้อยจนเกินไป หากสนใจ ติดต่อ...” คนขายเขียนข้อความโฆษณาลงเฟซบุ๊ก โดยใช้บัญชีในพม่า ที่เป็นแหล่งสัตว์ป่าและจุดผ่านแดนสำคัญของการค้าสัตว์ป่า

แม้เฟซบุ๊กจะห้ามจำหน่ายสัตว์ป่าบนแพลตฟอร์ม แต่ในช่วง 5 เดือนจนถึงเดือน พ.ค.2563 นักวิจัยขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) พบว่า มีการขายสัตว์ป่าบนเฟซบุ๊กเฉพาะจากพม่าถึง 2,143 ตัว จากทั้งหมด 94 สายพันธุ์ โดยโพสต์ส่วนใหญ่มากถึง 92% เสนอขายสัตว์ที่ยังมีชีวิต ทั้งนก ชะนี ค่าง แมวป่า และนกเงือก ที่เป็นที่ต้องการสูง

WWF กล่าวว่า โพสต์ บัญชี และกลุ่มมากกว่า 500 รายการ ถูกลบออกเฟซบุ๊กในเดือน เม.ย.และเดือน ก.ค. หลังพวกเขาแจ้งไปยังเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า พนักงานของบริษัทได้ลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎระเบียบทันทีเมื่อพวกเขาทราบข้อมูล

“เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเพื่อช่วยปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” โฆษกเฟซบุ๊ก กล่าว

นักรณรงค์กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่น โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่สงสัยว่าแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน ไม่ได้ช่วยลดความต้องการจากผู้ซื้อแต่อย่างใด

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางสำคัญในการค้าสัตว์ป่ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และจากการสำรวจ พบว่า ผู้ขายใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากเข้าถึงคนจำนวนมากและมีฟังก์ชันสนทนาส่วนตัว

“มันเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ” เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าว และว่า ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2558

พม่าถูกวิจารณ์เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เกี่ยวกับแผนการที่จะอนุญาตให้เพาะพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในที่กักขังประมาณ 175 สายพันธุ์ รวมทั้งเสือ และตัวนิ่ม

นาย ซอ ตุน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกรมป่าไม้ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของการลักลอบค้าสัตว์ป่า และเป้าหมายของแผนการเพาะพันธุ์สัตว์ในที่กักขังคือเพื่อลดการลักลอบล่าสัตว์

อลิซาเบธ จอห์น เจ้าหน้าที่สื่อสารอาวุโสขององค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า ทราฟฟิค (TRAFFIC) กล่าวว่า การต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ที่ผิดกฎหมายถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาค ที่กฎหมายยังคงล้าหลัง ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กได้พยายามที่จะจัดการกับการค้าออนไลน์ แต่ก็เผชิญต่อความท้าทายด้านโลจิสติกส์ในการตรวจสอบโพสต์

ผลการศึกษาของ TRAFFIC ที่เผยแพร่ในต้นเดือน ก.ค. ระบุว่า พบการขายงาช้างมากกว่า 2,469 กิ่ง ในอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

TRAFFIC กล่าวว่า เฟซบุ๊กได้ลบโพสต์กลุ่ม และโปรไฟล์ไปทั้งหมด 557 รายการจากที่แจ้งไปทั้งหมด 600 รายการ ส่วน WWF กล่าวว่าเฟซบุ๊กได้ลบบัญชีผู้ใช้งาน 4 บัญชี และกลุ่มอีก 7 กลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มมีสมาชิกหลายพันคน ออกไปจากแพลตฟอร์มตามงานวิจัยของพวกเขาในพม่า

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทใช้การผสมผสานทั้งในส่วนของเทคโนโลยี รายงานจากเอ็นจีโอ และอื่นๆ เพื่อตรวจจับและลบเนื้อหา.






กำลังโหลดความคิดเห็น