xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเตรียมส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พม่ากำลังเตรียมที่จะปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรร่วมกับกลุ่มประเทศน้องใหม่ในวงการอวกาศ ด้วยเป้าหมายที่จะปกป้องผู้คนหลายล้านชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในอนาคตกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กจาก 9 ชาติเอเชีย จะติดตามพายุไต้ฝุ่น กิจกรรมแผ่นดินไหว และการไหลของน้ำ รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน การเติบโตของพืช และการระบาดของโรค

โครงการนี้เป็นโครงการด้านอวกาศโครงการแรกของพม่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในกลุ่ม ที่มีฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซียรวมอยู่ด้วย

จี ถวิ่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศพม่า กล่าวกับเอเอฟพีว่า ประโยชน์ของการสำรวจสิ่งแวดล้อมจากอวกาศคุ้มกับงบประมาณหลายล้านดอลลาร์ที่พม่าเสียไป

“มันราคาไม่แพงถ้าเราสร้างดาวเทียมของเราเอง” จี ถวิ่น กล่าวจากด้านในอาคารรูปทรงกระสวยอวกาศของมหาวิทยาลัยใกล้เมืองเมกถิลา และเสริมว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวกระโดดไปข้างหน้า

แม้พม่าจะอยู่คนละวงโคจรกับชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจิตวิญญาณของความร่วมมือทำให้การปล่อยดาวเทียมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ยูกิฮิโระ ทาคาฮาชิ จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด หนึ่งใน 2 สถาบันญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำของโครงการ ระบุว่า ไนจีเรียได้กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับผลิตเทคโนโลยีดาวเทียมราคาถูก

“จากที่เคยใหญ่ หนัก และราคาแพง กลายเป็นเล็ก เบา และไม่แพง” ทาคาฮาชิ กล่าว

เป้าหมายของโครงการคือการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กประมาณ 5 ดวงทุกปี โดยแต่ละดวงมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม และมีอายุการใช้งาน 5 ปี จนกระทั่งกลุ่มควบคุมดาวเทียมราว 50 ดวงในวงโคจร

การปล่อยดาวเทียมจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่พม่าจะมีศูนย์ควบคุมภาคพื้นของตัวเองที่ทำงานไปพร้อมกับญี่ปุ่น

“พม่าจะเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลัก” ทาคาฮาชิ กล่าว และว่า มาเลเซีย ไทย บังกลาเทศ และมองโกเลีย จะเข้าร่วมทีมในภายหลัง

ทาคาฮาชิ ยังกล่าวว่า กล้องของโครงการเป็นหนึ่งในกล้องที่ดีที่สุดในอวกาศ ถ่ายภาพเกือบจะต่อเนื่องที่จะเปลี่ยนเป็นรูปจำลอง 3 มิติ ของไต้ฝุ่นหรือพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ

ดาวเทียมจะติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากการพัฒนาเมืองไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าและการทำเหมืองผิดกฎหมาย

กลุ่มวิศวกรการบินและอวกาศ 7 คน ชุดแรกของพม่า พร้อมเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นเวลา 7 เดือน เพื่อเตรียมการก่อนการปล่อยดาวเทียม แต่แผนการเดินทางของพวกเขาถูกระงับลงชั่วคราว เนื่องจากมาตรการปิดพรมแดนเพราะการระบาดของโควิด-19 โดยกำหนดการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของพม่าอยู่ในช่วงต้นปี 2564.






กำลังโหลดความคิดเห็น