xs
xsm
sm
md
lg

ลาวเดินหน้า ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ บนน้ำโขง สานต่อแผนแบตเตอรี่เอเชีย แม้เพื่อนบ้านวิตกกระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ลาวกำลังผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง แม้ประเทศเพื่อนบ้านจะแสดงความวิตกกังวลว่าเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อการประมงและการทำการเกษตรในพื้นที่ปลายน้ำ ตามการระบุของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) วันนี้ (1)

โครงการเขื่อนหลวงพระบางขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็นเขื่อนแห่งที่ 3 และมีขนาดใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำโขง ซึ่งเดิมมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปีนี้

รัฐบาลกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ได้แสดงความวิตกกังวลต่อลาว และร้องขอเวลาในการประเมินผลกระทบให้มากขึ้น หลังกระบวนการปรึกษาหารือของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับโครงการเสร็จสิ้นลงวานนี้ (30)

“ในขณะที่ทั้ง 3 ประเทศยอมรับถึงอำนาจอธิปไตยและสิทธิของลาว...พวกเขาได้ร้องขอให้ลาวใช้เวลาพิจารณาคำแนะนำของพวกเขา” คณะกรรมาธิการระบุในคำแถลง

รัฐบาลกัมพูชากล่าวกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือว่าควรมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเพิ่มเติม ขณะที่เวียดนามได้ขอให้ลาวจัดสรรเวลาและทรัพยากรให้มากขึ้น

การศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้แสดงให้เห็นว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักสามารถสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรปลายน้ำ จากการกีดขวางการไหลของตะกอนลงสู่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำและขัดขวางการอพยพของปลา

แต่อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาแม่น้ำโขงปี 2538 ไม่ได้ให้อำนาจกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้านในการยับยั้งโครงการใดๆ ในลาว

การพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญในแผนการของลาวที่จะส่งออกพลังงานไฟฟ้าราว 20,000 เมกะวัตต์ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านภายในปี 2573

เมื่อปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 2 แห่ง คือ เขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,285 เมกะวัตต์ และเขื่อนดอนสะโฮงขนาด 260 เมกะวัตต์ เสร็จสมบูรณ์ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมก็ตาม และเมื่อเขื่อนไฟฟ้าใหม่เหล่านี้เริ่มการผลิต ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 50 ปี ทำให้เกิดคำถามจากนักสิ่งแวดล้อม

โครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐบาลลาว บริษัทปิโตรเวียดนามพาวเวอร์ และบริษัท ช.การช่าง ของไทย

เพียรพร ดีเทศน์ นักรณรงค์จากองค์การแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า กระบวนการปรึกษาหารือไม่เคยนำไปสู่การถกเถียงที่มีความหมายถึงผลกระทบหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าเหล่านี้ ดังนั้นคำถามจากประชาชน เอ็นจีโอ และรัฐบาล ไม่เคยได้รับคำตอบที่เหมาะสม.
กำลังโหลดความคิดเห็น