เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยว่า บ้านและสิ่งปลูกสร้างอย่างน้อย 200 หลังในรัฐยะไข่ ถูกเพลิงเผาทำลาย เหตุการณ์ที่มีลักษณะเด่นของการลอบวางเพลิงโจมตีหมู่บ้านโดยทหารก่อนหน้านี้
หมู่บ้านเลตการ์ที่เกือบร้างว่างเปล่าเนื่องจากชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่หลบหนีออกจากพื้นที่มานานกว่า 1 ปี เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ โดยอ้างถึงภาพถ่ายดาวเทียมและพยานหลักฐาน
ทหารพม่าทำสงครามกับกองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มก่อความไม่สงบที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองเพื่อชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และอีกกว่า 150,000 คน ต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนตนเอง
ทั้งทหารและกองทัพอาระกันต่างปฏิเสธความรับผิดชอบในการทำลายหมู่บ้านเลตการ์ ในเมืองมรัคอู โดยกล่าวหาว่า อีกฝ่ายเป็นผู้กระทำสิ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เตือนว่าอาจเป็นอาชญากรรมสงคราม
“การเผาทำลายหมู่บ้านเลตการ์ มีลักษณะที่บ่งชี้ถึงการวางเพลิงหมู่บ้านโรฮิงญาของทหารพม่าในช่วงหลายปีมานี้” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าว
“การสอบสวนที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วนเพื่อค้นหาว่ามีอะไรเกิดขึ้น ลงโทษผู้รับผิดชอบ และให้การชดเชยแก่ชาวบ้านที่ได้รับอันตราย” โรเบิร์ตสัน กล่าว
รัฐยะไข่เป็นรัฐที่เกิดเหตุปราบปรามทางทหารในปี 2560 ที่เป็นผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 750,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ ในความรุนแรงที่ทำให้พม่าต้องเผชิญต่อข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังศาลสูงสุดของสหประชาชาติ
โรเบิร์ตสัน เสริมว่า รัฐบาลควรขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติในการไต่สวนและไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของทหาร
อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุว่า การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกลุ่มมีแนวโน้มอย่างมากว่าจะประเมินขนาดของการทำลายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากความเสียหายภายในของสิ่งปลูกสร้างนั้นไม่สามารถมองเห็นได้
จ่อ ซอ หล่า อายุ 46 ปี อาศัยอยู่ในค่ายพักใกล้หมู่บ้านที่พวกเขาต้องหลบหนีออกมา ยืนยันว่าบ้านของเขาอยู่ในกลุ่มที่ถูกเผา
“เราสูญเสียทุกอย่าง เราไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้และเราไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้” จ่อ ซอ หล่า กล่าว
ส่วนภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยกองทัพเผยให้เห็น “กลุ่มก่อความไม่สงบกองทัพอาระกันกำลังวิ่งหนีหลังจากจุดไฟเผาหมู่บ้าน” ซอ มิน ตุน โฆษกทหารกล่าวเมื่อวันศุกร์ (22) ข้อกล่าวหาที่กองทัพอาระกันปฏิเสธ
พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแห่งนี้ยังถูกปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และไม่อนุญาตนักข่าวเข้าพื้นที่ ทำให้การรายงานข่าวอย่างเป็นอิสระเป็นเรื่องยาก
ยางฮี ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้กล่าวเตือนเมื่อเดือนก่อนว่า ทหารพม่าควรถูกสืบสวนเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อาจเกิดขึ้น
ลี ยังกล่าวหากองกำลังทหารทรมานและสังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกองทัพอาระกันหลายสิบคน ข้อกล่าวหาที่ทหารปฏิเสธ.