xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่ายอมรับทารุณนักโทษในยะไข่หลังคลิปทำร้ายร่างกายหลุดว่อนโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - กองทัพพม่ายอมรับว่ากองกำลังของตนกระทำทารุณนักโทษในรัฐยะไข่ หลังคลิปวิดีโอทหารซ้อมนักโทษที่ถูกปิดตาแพร่สะพัดทั่วสื่อสังคมออนไลน์

คลิปวิดีโอที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่วันอาทิตย์ เผยให้เห็นกลุ่มชายในเครื่องแต่งกายทั่วไปชกและเตะที่ศีรษะของผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกปิดตาและใส่กุญแจมือ

เว็บไซต์ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. โดยผู้ถูกคุมขัง 5 คน ถูกจับกุมตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของกองทัพอาระกัน (AA) และกำลังถูกส่งตัวไปยังเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ทางเรือ

ทหารพม่ากำลังติดพันอยู่กับการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับกลุ่มกบฏ ที่ระบุว่าต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองให้แก่ชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่

“สมาชิกของกองกำลังความมั่นคงบางส่วนสอบปากคำนักโทษในวิธีที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจะมีการดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบเหล่านี้” คำแถลงระบุโดยไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการลงโทษ

คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ต่อหลายหมื่นครั้ง โดยความคิดที่มีต่อเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างผู้ที่ไม่พอใจ และผู้ที่ปกป้องทหาร

ด้านครอบครัวของผู้ที่ถูกจับกุม ปฏิเสธว่าพวกเขามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับกองทัพอาระกัน

“เขาแค่ทำงานที่ร้านขายข้าว เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับกองทัพอาระกัน” นี นี แม่ของ นี นี อ่อง หนึ่งในผู้ถูกจับกุมตัว กล่าวทางโทรศัพท์

วิดีโอยังเผยให้เห็นผู้สอบปากคำกระชากผม นี นี อ่อง ไปด้านหลังและชกเข้าที่ใบหน้า ก่อนเจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งเตะเข้าที่ศีรษะ

นับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในเดือน ม.ค.2562 มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และยังทำให้ผู้คนราว 150,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเอง

ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า ทหารพม่าควรถูกสอบสวนถึงการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการสู้รบ

ลียังกล่าวหาทหารเกี่ยวกับการหายตัว การทรมาน และการสังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกองทัพอาระกัน รวมทั้งการปิดกั้นความช่วยเหลือและการขัดขวางพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บเดินทางไปยังโรงพยาบาล

แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวโทษฝ่ายกองทัพอาระกัน

นับเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ตและนักข่าวยังถูกจำกัดการเข้าถึง

รัฐบาลกำหนดให้กองทัพอาระกันเป็นองค์กรก่อการร้ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่าผู้ใดก็ตามที่ติดต่อกับกองทัพอาระกันเพื่อขอความคิดเห็นอาจถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายก่อการร้ายของพม่าได้

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำเอเชีย เรียกร้องให้ประเด็น “การได้รับการยกเว้นโทษ” ของทหารพม่า ถูกหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในสัปดาห์นี้

พม่าเผชิญข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ คดีที่ถูกยื่นฟ้องร้องหลังชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 740,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศหลังเกิดเหตุการณ์การปราบปรามโดยทหารในรัฐยะไข่ในปี 2560 ข้อหาที่พม่าปฏิเสธ.
กำลังโหลดความคิดเห็น