เอเอฟพี - องค์กร Genocide Network ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) แถลงเรียกร้องวันนี้ (23 พ.ค.) ให้มีการเอาผิดฐาน “ก่ออาชญากรรมสงคราม” กับพวกชาวต่างชาติที่เดินทางไปจับอาวุธสู้รบร่วมกับกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) หลังจากที่บุคคลเหล่านี้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด
Genocide Network ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย EU เมื่อปี 2002 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างพนักงานสอบสวนและอัยการของประเทศในยุโรป ระบุว่า ปัจจุบันผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่เพียงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายก่อการร้ายของประเทศนั้นๆ แต่อันที่จริงแล้วคนเหล่านี้สมควรที่จะถูกตั้งข้อหาอย่างกว้างขวางภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
รายงานชิ้นใหม่ขององค์กรแห่งนี้ระบุว่า ไอเอสไม่สมควรถูกมองว่าเป็นเพียงองค์กรก่อการร้ายธรรมดาๆ แต่ควรถูกดำเนินคดีภายใต้หลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล ในฐานะที่เป็น “ขั้วหนึ่งของความขัดแย้งในอิรักและซีเรีย โดยกระทำตัวเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มิใช่รัฐ”
“ดังนั้น สมาชิกและนักรบต่างชาติของไอเอสจึงต้องมีส่วนรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมสากลอื่นๆ”
Genocide Network ยกตัวอย่างกรณีนักรบญิฮาดชาวเยอรมันคนหนึ่งที่ใช้โทรศัพท์มือถืออัดคลิปวิดีโอขณะลงมือตัดหูและจมูกจากศพทหารซีเรียในเมืองอะเลปโป และสุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 8 ปีครึ่งในความผิดฐาน “ก่ออาชญากรรมสงครามอันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของบุคคล”
ที่เนเธอร์แลนด์ นักรบญิฮาดชาวดัตช์ถูกพิพากษาจำคุก 7 ปีครึ่ง หลังจากที่ไปโพสท่ายืนหัวเราะข้างๆ ชายคนหนึ่งที่กำลังถูกตรึงกางเขน และนำรูปดังกล่าวมาแชร์ลงเฟซบุ๊ก
สำนักงานความร่วมมือด้านยุติธรรมยุโรป (Eurojust) และ Genocide Network ชี้ว่า การดำเนินคดีในลักษณะนี้ควรจะเป็นมาตรฐานสากล เพื่อเอาผิดกับพวกนักรบต่างชาติรายอื่นๆ ที่เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด
รายงานฉบับนี้อ้างงานวิจัยของศูนย์เพื่อการศึกษาแนวคิดหัวรุนแรงและความรุนแรงทางการเมือง (ICSR) ในกรุงลอนดอนเมื่อกลางปี 2018 ซึ่งพบว่า มีประชากรยุโรปตะวันออก 7,252 คน และ 5,904 คนในยุโรปตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส โดยมีทั้งที่เป็นอดีตนักรบ, ผู้หญิง และเด็ก
ปัจจุบันยังคงมีนักรบไอเอสราว 2,000 คน ถูกคุมขังอยู่ในซีเรีย และอีกประมาณ 1,000 คนในอิรัก ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองจากยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี