ซินหวา - สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ออกคำแถลงวานนี้ (24) ระบุว่า นักอนุรักษ์พบรังตะพาบหัวกบหายาก (Cantor's Giant Softshell Turtles) ถึง 49 รัง พร้อมไข่ตะพาบกว่า 1,756 ใบ บนหาดริมแม่น้ำโขงใน จ.กระแจะ (Kratie) และ จ.สตึงเตรง (Stung Treng) ในช่วงฤดูวางไข่ปีนี้
แม้จะพบรังตะพาบมากกว่าฤดูวางไข่ปี 2562 เพียง 2 รัง แต่ไข่ตะพาบที่พบกลับมีจำนวนมากกว่าที่พบในช่วงหลายปีที่ผ่านมามาก คำแถลงระบุ และจนถึงวันศุกร์ (22) มีลูกตะพาบฟักออกจากไข่ทั้งสิ้น 824 ตัว จาก 41 รัง โดยลูกตะพาบ 657 ตัว ถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนลูกตะพาบที่เหลือยังอยู่ภายใต้การดูแลของนักอนุรักษ์เพื่อปล่อยในอนาคต
ตะพาบหัวกบ ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติ ในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เชื่อว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขงในส่วนของกัมพูชา จนกระทั่งพวกมันถูกพบตัวอีกครั้งในปี 2550 บริเวณแม่น้ำโขงเขต จ.กระแจะ และ จ.สตึงเตรง ที่มีความยาว 48 กิโลเมตร
“ด้วยการสนับสนุนจากผู้บริจาคของเราและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานด้านประมง รวมถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของเจ้าหน้าที่ภาคสนามและทีมพิทักษ์รังตะพาบชุมชน ทำให้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้” ผู้อำนวยการ WCS ประจำกัมพูชา กล่าว
“จำนวนรังและไข่ตะพาบหัวกบที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราเพิ่มความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาตินี้ให้มากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการ กล่าว
ด้านผู้อำนวยการสำนักงานอนุรักษ์ของกรมประมง ได้ยกย่องการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ชุมชน และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ในการอนุรักษ์ตะพาบที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ให้สามารถอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ และย้ำเตือนว่าผู้ที่ค้าตะพาบหัวกบจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย
องค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าและกรมประมงกัมพูชาได้ร่วมทำงานอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2560 ทั้งการขัดขวางการจับและค้าตะพาบอย่างผิดกฎหมาย การดำเนินโครงการพิทักษ์รังตะพาบโดยชุมชน และการสนับสนุนการทำประมงชุมชนและการพัฒนาชุมชน เป็นต้น.