รอยเตอร์/ซินหวา - นักอนุรักษ์ในกัมพูชากำลังเฉลิมฉลองการฟักออกจากไข่ของเต่าหายากใกล้สูญพันธุ์ที่มีจำนวนมากถึง 23 ตัวในปีนี้ ซึ่งมากกว่าจำนวนลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่ 3 ปีก่อนหน้ารวมกัน โดยนักอนุรักษ์ระบุว่า เป็นผลจากการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และการหยุดขุดลอกทรายในแม่น้ำ
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WSC) ประจำกัมพูชาระบุในคำแถลงว่า ลูกเต่าราชาหายากทั้ง 23 ตัว มาจากรังเต่าราชา 3 รัง ที่อยู่ตามแนวแม่น้ำเสรอัมเบล (Sre Ambel) ในพื้นที่ของ จ.เกาะกง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สถานที่เดียวในกัมพูชาที่พบเต่าสายพันธุ์ดังกล่าว
จากไข่เต่าที่พบทั้งหมด 51 ใบ และฟักออกมาเป็นตัวได้ 23 ตัว นับเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยเพิ่มความหวังว่าสัตว์สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามนี้ จะมีชีวิตรอดต่อไป หลังเชื่อกันว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากกัมพูชาแล้วตั้งแต่สองทศวรรษก่อน
“ด้วยการสนับสนุนและความร่วมมือที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เราหวังว่าจำนวนเต่าราชาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป” ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประจำกัมพูชา กล่าว
การจับปลาอย่างผิดกฎหมาย พื้นที่ป่าที่น้ำท่วมถึงลดลง และการขุดลอกทรายตามระบบแม่น้ำเสรอัมเบล ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้แหล่งอยู่อาศัยของเต่าสูญหายไป จนกระทั่งในปี 2560 ทางการกัมพูชาได้ออกกฎหมายเพื่อยุติการขุดลอกทราย
WCS ระบุว่า ความสำเร็จนี้เป็นผลจากความพยายามอนุรักษ์สายพันธุ์เต่าของชุมชนท้องถิ่น การห้ามขุดลอกทรายตามแม่น้ำ และการรวมแม่น้ำเป็นพื้นที่อนุรักษ์และการจัดการการประมง
เจ้าหน้าที่จับชั่งน้ำหนักวัดความยาวลูกเต่า โดยแต่ละตัวมีความยาวเพียงไม่กี่นิ้ว ลูกเต่าเหล่านี้จะได้รับการดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในภายหลัง
สหภาพยุโรปกำลังช่วยเหลือระดมทุนให้แก่โครงการเพื่อการอนุรักษ์เต่าราชาผ่านการวิจัยและการเฝ้าสังเกตติดตาม และการคุ้มครองรังเต่า รวมทั้งชายหาดที่เต่าวางไข่
เต่าราชาเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปจากกัมพูชาแล้ว จนกระทั่งปี 2543 กรมประมงและ WCS พบประชากรเต่ากลุ่มเล็กๆ ที่แม่น้ำเสรอัมเบล และหลังจากการค้นพบดังกล่าว WCS ได้ริเริ่มโครงการปกป้องรังเต่าโดยชุมชนท้องถิ่น ด้วยการจ้างอดีตคนเก็บไข่เต่าทำหน้าที่ค้นหาและพิทักษ์รังของพวกมันแทน.