xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มนักอนุรักษ์สับ จนท.เขมรใช้จังหวะโควิด-19 ระบาดขวางตระเวนป่า เปิดทางมอดไม้ลอบตัดไม่เหลือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กลุ่มอนุรักษ์กัมพูชาเตือนว่าการตัดไม้ในป่าคุ้มครองเปรยลาง (Prey Lang) เพิ่มขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่กลุ่มได้ให้คำมั่นว่าจะติดตามการทำลายป่าต่อไป แม้รัฐบาลขู่ว่าจะดำเนินมาตรการตามกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการทำงานของกลุ่มก็ตาม

สมาชิกของเครือข่ายชุมชนเปรยลาง (PLCN) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยให้ไม้ถูกตัดผ่านโครงการธุรกิจการเกษตรที่อยู่ตามชายป่า

เนธ เพียกตรา โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า มีเพียงแค่การตัดไม้อย่างผิดกฎหมายขนาดเล็กมากของคนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเปรยลาง และเจ้าหน้าที่กำลังทำงานเพื่อหยุดยั้งกิจกรรมเหล่านั้น

โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมยังกล่าวเสริมว่า นักเคลื่อนไหวของ PLCN ไม่เคารพกฎหมาย จากการติดตามการตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

กัมพูชาเต็มไปด้วยข้อพิพาทขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการทำลายป่า นับตั้งแต่ยุคเขมรแดงที่ทำลายบันทึกทรัพย์สินทั้งหมดในช่วงทศวรรษ 1970

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 รัฐบาลเริ่มแผนพัฒนาที่ทำให้เห็นว่า มากกว่า 10% ของดินแดนประเทศถูกเปลี่ยนเป็นธุรกิจการเกษตร ที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราของต่างชาติซึ่งได้สัญญาเช่าระยะยาว และบางธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ระงับโครงการในปี 2555 ท่ามกลางรายงานแพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการบังคับไล่ที่ และการทำลายสิ่งแวดล้อม

กัมพูชาสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 1 ใน 4 ของป่าปกคลุมทั้งหมดของประเทศระหว่างปี 2544-2561 ซึ่งนับเป็นอัตราการทำลายป่าที่สูงที่สุดในโลก ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Global Forest Watch (GFW) ที่เป็นระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก

Global Witness องค์กรสอบสวนการทุจริตจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้จัดทำรายงานที่แสดงให้เห็นว่า นักธุรกิจชาวกัมพูชาที่มีเส้นสายเกี่ยวพันทางการเมืองใช้ประโยชน์จากการสัมปทานและบุคลากรทางทหาร เข้าตัดไม้มีค่าจากป่าคุ้มครอง เพื่อส่งตลาดที่กำลังเติบโตสูงในจีนและเวียดนาม

ไม้เกือบครึ่งล้านลูกบาศก์เมตรถูกลักลอบขนข้ามชายแดนด้านตะวันออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามระหว่างปี 2559-2561 ตามการระบุขององค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในกรุงลอนดอน




อุช เลง สมาชิกของ PLCN และผู้ชนะรางวัล Goldman Prize ประจำปี 2016 จากผลงานตีแผ่เรื่องราวการทุจริตคอร์รัปชันและการตัดไม้ผิดกฎหมาย ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งเขาได้อ้างถึงการค้นพบลู่ทางที่เริ่มต้นจากการให้สัมปทานโดยรัฐบาลไปสู่ผืนป่า

แม้กัมพูชาจะมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สะสมเพียง 122 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากความต้องการด้านการท่องเที่ยวและการจำหน่ายเสื้อผ้าที่ลดลง

เปรยลาง ที่เป็นบ้านของพืชและสัตว์ถูกคุกคามหลายสิบชนิด สูญเสียป่าปกคลุมราว 10% ระหว่างปี 2543-2561 ตามข้อมูลของ GFW และกลายเป็นสมรภูมิล่าสุดของกัมพูชาสำหรับผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม

PLCN ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 และเป็นแกนหลักของนักเคลื่อนไหวหลายสิบคนใน 4 จังหวัด ที่ผืนป่าครอบคลุมอยู่ และยังมีสมาชิกอาสาสมัครอีกราว 600 คน

หน่วยลาดตระเวน ที่หลายคนมาจากกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในและรอบๆ ป่า ใช้เทคโนโลยี GPS และแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาโดยเพื่อบันทึกตอไม้ ถนนสายใหม่ และค่ายตัดไม้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปจับคู่กับภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นถึงการตัดไม้ทำลายป่า โรงเลื่อยไม้โกดังไม้

เมื่อเดือนก่อน กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการในสิ่งที่ศูนย์สิทธิมนุษยชน กัมพูชาเรียกว่า “การคุกคาม” ต่อนักเคลื่อนไหวของ PLCN หลังเครือข่ายตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกจากนักวิจัย

จดหมายดังกล่าวมีข้อมูลจาก GFW ที่แสดงให้เห็นถึงการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลเข้าควบคุมป่า และห้าม PLCN ออกลาดตระเวนในเดือน ก.พ.

เฮือน สุเพียบ สมาชิกของ PLCN กล่าวว่ารัฐบาลได้กำหนดข้อจำกัดกับกิจกรรมของกลุ่มเพราะ “รายงานของเรามีความเฉพาะเจาะจงอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

“รัฐบาลควรขอบคุณพวกเราสำหรับงานชิ้นนี้ แต่พวกเขากลับทำตรงกันข้าม คือปฏิเสธเราและยังข่มขู่คุกคาม” เฮือน สุเพียบ กล่าว

เฮือน สุเพียบ กล่าวว่า “คนพื้นที่” ที่กระทรวงกล่าวหาว่าตัดไม้ในเปรยลาง ได้เงินค่าจ้างทำงานสกปรกของนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทานใกล้เคียง

“ชาวบ้านรู้ว่าไม่ว่ายังไงป่าก็จะหายไป ดังนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะหาเงินขณะที่พวกเขายังทำได้” สุเพียบ กล่าว

การอนุรักษ์อาจเป็นงานที่เต็มไปด้วยอันตรายในกัมพูชา ด้วยผู้ที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครองพิทักษ์ป่ามักทำผิดกฎหมาย และหากพวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็อาจพบว่าตนเองตกอยู่ในอันตราย ตัวอย่างเช่น ในปี 2561 ผู้ที่ออกลาดตระเวนป่า 3 คน ที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ดูแลป่า สารวัตรทหร และนักอนุรักษ์ ถูกทหารซุ่มโจมตีเสียชีวิต หลังทั้งสามบุกค่ายตัดไม้ของชาวเวียดนามภายในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแก้วเสมา (Keo Seima)

และในปี 2555 ชัต วัตตี ผู้พิทักษ์ผืนป่าที่มีชื่อเสียงถูกสารวัตรทหารยิงเสียชีวิตขณะออกปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับนักข่าวบริเวณเทือกเขาคาร์ดามอม

จัก สุเพียบ หัวหน้าศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าวว่า สมาชิก PLCN ตกเป็นเป้าของรัฐบาลในช่วงหลายเดือนมานี้ แม้พวกเขาจะดำเนินกิจกรรมอย่างสันติและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

คริสตัล เดวิส ผู้อำนวยการ Global Forest Watch กล่าวว่า กัมพูชาไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามเซ็นเซอร์ หรือดิสเครดิตข้อมูลของ GFW แต่อย่างไรก็ตาม เดวิสปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลรายละเอียดของที่อื่นๆ

“เราเชื่อว่าความโปร่งใสของข้อมูลติดตามป่าเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าผิดกฎหมาย และภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามนี้” เดวิส กล่าวเสริม.
กำลังโหลดความคิดเห็น