xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าปะทะกลุ่มติดอาวุธทำโรฮิงญาดับอย่างน้อย 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รอยเตอร์ - ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง หลังกองกำลังทหารพม่าปะทะกับกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่ ตามการเปิดเผยของสมาชิกสภาและคนในพื้นที่วันนี้ (1)

การต่อสู้ในวันเสาร์ (29) ปะทุขึ้นหลังกลุ่มกบฏกองทัพอาระกันโจมตีขบวนรถของทหารที่ขับผ่านเมืองมะรัคอู ตามการระบุของ ตุน ธา เส่ง สมาชิกสภาท้องถิ่น และข่าย ทู ข่า โฆษกกองทัพอาระกัน

ด้านโฆษกทหาร 2 นาย ไม่ได้รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็นและกองทัพไม่ได้ออกคำแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้บนเว็บไซต์ แต่ข่าย ทู ข่า โฆษกกองทัพอาระกัน ได้กล่าวโทษกองกำลังทหารของรัฐบาลสำหรับการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุโจมตีในพื้นที่ห่างไกลนี้ได้ เนื่องจากนักข่าวถูกห้ามเข้าพื้นที่ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาด

โฆษกของกองทัพอาระกันระบุในข้อความว่า ปืนใหญ่ของกองทัพพม่ายิงถูกหมู่บ้านบูตาโลน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

สมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า มีโรฮิงญาอย่างน้อย 5 คนเสียชีวิต โดยหนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายอายุ 12 ปี

รัฐยะไข่เป็นรัฐที่ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศหลังการปราบปรามของทหารในปี 2560 ที่สหประชาชาติกล่าวว่า มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่พม่าปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โรฮิงญาหลายแสนคนยังคงอยู่ในพม่า หลายคนถูกจำกัดอยู่แต่ในค่ายพักและหมู่บ้านที่พวกเขาติดอยู่กลางการต่อสู้ครั้งใหม่ระหว่างทหารและกองทัพอาระกัน ที่เกณฑ์กำลังมาจากชาวพุทธในพื้นที่ ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองจากรัฐบาลกลาง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ยังทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่นและเสียชีวิตอีกหลายสิบ

ตุน ธา เส่ง สมาชิกสภามะรัคอู กล่าวว่า กองกำลังทหารตอบโต้ด้วยการยิงปืนและปืนใหญ่ใน 2 หมู่บ้านเมื่อวันเสาร์ (29) หลังกลุ่มกบฏโจมตีขบวนรถของพวกเขา

“ในการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ทหารเริ่มยิงเข้าใส่พื้นที่ต้องสงสัย” ตุน ธา เส่ง กล่าว

นักข่าวถูกห้ามเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ตอนกลางและตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่เวลานี้ถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตมานานถึง 8 เดือน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนยังคงอยู่ในยะไข่ในสภาพที่ถูกจำกัดในสภาพเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเดินทางได้อย่างเสรี หรือเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา

“เราออกไปข้างนอกไม่ได้ ไปที่ไหนก็ไม่ได้ เราอยู่แค่ในหมู่บ้านของพวกเรา ผมรู้สึกว่าไร้ความหวังหากการต่อสู้ยังเกิดขึ้นต่อไปเช่นนี้” ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น